ดึงเอกชนเนรมิต 5 สถานีขนส่ง แข่ง “สนามบิน” สู้ “โลว์คอสต์”

ปัจจุบัน “รถบัส” หรือรถโดยสารประจำทาง ถูกคู่แข่งสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แย่งแชร์ตลาด ขณะที่ในอนาคต หากรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังผลักดันให้เริ่มการก่อสร้าง หากสำเร็จดังหวัง คาดการณ์กันว่าไฮสปีดเทรนจะเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งของรถ บขส.

เมื่อเทรนด์และพฤติกรรมการเดินทางเปลี่ยนไป ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับความเร็ว จึงทำให้รถโดยสารประจำทางเริ่มมีความนิยมน้อยลง แต่คงยังไม่ถึงขั้นจะล้มหายไปจากตลาด เพราะรถ บขส.ยังเป็นขวัญใจของกลุ่มรากหญ้า

เพื่อเป็นการรับมือกับจุดเปลี่ยนของตลาด ล่าสุด “ขบ.-กรมขนส่งทางบก” ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารในระยะ 20 ปี (2561-2581) ใน 5 ปีแรก จะนำร่อง 5 จังหวัด

“เชิดชัย สนั่นศรีสาคร” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้ใช้บริการเปลี่ยนไป ประกอบกับมีการแข่งขันของธุรกิจสายการบินและระบบราง รวมทั้งมีการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้ต้องมีการศึกษาแผนแม่บทสถานีขนส่งผู้โดยสารใหม่ เพื่อตอบโจทย์กับผู้โดยสาร

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้จัดการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในการดำเนินการและการพัฒนาสถานีขนส่งคนโดยสาร เพื่อนำเสนอแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บทในการดำเนินการเพื่อนำเสนอแนวคิดในการจัดทำแผนแม่บท ในการดำเนินการและพัฒนาสถานีขนส่งคนโดยสาร ภายในระยะเวลา 20 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น 5 ปี ระยะกลาง 6-10 ปี และระยะยาว 11-20 ปี จะเป็นภาพรวมทั้งประเทศ

แผนแม่บทได้จัดทำแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนภายในระยะเวลา 5 ปี เริ่มปี 2561-2565 โดยคัดสถานีขนส่งที่สำคัญมานำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต เพราะมีปริมาณการเดินทางสูง ในปี 2559 สถานีขนส่งหมอชิต มีจำนวนเที่ยวรถ 7,469 เที่ยว จำนวนผู้โดยสาร 128,510 คน และรายได้การบริการ 48,677 ล้านบาท

“หาดใหญ่” เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงมีเที่ยวรถโดยสารระหว่างประเทศ มีสัดส่วนจำนวนผู้ใช้บริการต่างชาติสูง

“ระยอง” เป็นพื้นที่ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รองรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารคนไทย ส่วน “นครราชสีมา” เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันธุรกิจการบินและระบบราง

และ “เชียงใหม่” เป็นพื้นที่ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูง รวมทั้งมีการแข่งขันธุรกิจการบิน

ทั้ง 5 แห่งจะกำหนดรูปแบบการพัฒนาและให้เอกชนร่วมลงทุน โดยหลักแนวคิดในการออกแบบสถานีคือ จัดพื้นที่รับ-ส่งผู้โดยสารอยู่ในส่วนที่เข้าถึงง่าย ลดปริมาณจราจร แยกบริเวณรับ-ส่งผู้โดยสารขาเข้า-ออก

“ออกแบบสถานีให้ใช้ประโยชน์พื้นที่เหมือนสนามบิน จัดช่องจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร สามารถเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย รองรับเทคโนโลยีดิจิทัล เหมือนโมเดลต้นแบบจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น”

ที่ผ่านมาได้ประชุมกลุ่มย่อยใน 3 จังหวัด ได้แก่ หาดใหญ่ นครราชสีมา และระยอง หลังจากนี้จะประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 2561 จากนั้นจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ

“สถานีจตุจักรหมอชิต ขณะนี้นโยบายกระทรวงคมนาคมจะย้ายไปอยู่ที่สถานีบีทีเอสหมอชิต ขนาดพื้นที่ 1 แสน ตร.ม. รองรับการเดินทางของประชาชนในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เป็นสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอย่างเดียว ส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรทางเข้า-ออก จะต้องหารือกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) อีกครั้ง คาดว่าเริ่มก่อสร้างปีหน้า”นายเชิดชัยกล่าวและว่า

สำหรับการลงทุนสถานีต่างจังหวัด ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดำเนินการ กรมจะเป็นผู้กำกับดูแล หากมีการร่วมทุนกับเอกชนก็จะเป็นท้องถิ่นกับเอกชนเป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการ