สัมปทานทวาย-เหมืองแร่โพแทช จุดเสี่ยงสถานะ “อิตาเลียนไทย”

มีหลายโปรเจ็กต์ที่ “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” พี่ใหญ่วงการรับเหมา ยุค “เปรมชัย กรรณสูต” เป็นผู้กุมบังเหียนที่ยังไม่เปรี้ยง

เมื่อปี 2556 ลงทุนไปหลาย 100 ล้านบาท ทำเอกสารยื่นซองประมูลแผนบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คว้างานมาได้ถึง 5 โมดูล แต่สุดท้ายโครงการล่มกลางคัน กลายเป็นโปรเจ็กต์ต้องลงแรงเปล่า

ต่อมาอภิมหาโปรเจ็กต์ “เขตเศรษฐกิจทวาย” ที่กำลังถึงทางตัน หลังเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี 2551 ล่าสุดคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ (DSEZ MC) บอกเลิกสัญญา 7 ฉบับ

ทั้งนี้ “อิตาเลียนไทยฯ” ได้เข้าไปลงทุนร่วม 7,000-8,000 ล้านบาท สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการเพื่อบุกเบิกการพัฒนาพื้นที่ หลังมั่นใจว่าโครงการจะได้ไปต่อ

จากการเซ็นสัญญา MOU ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเมียนมาเพื่อขับเคลื่อนโครงการ จนเป็นที่มาของสัมปทานพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในระยะแรก เนื้อที่ 27 ตร.กม. เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 ที่ “อิตาเลียนไทยฯ” ได้สัมปทาน 50 ปี ต่อได้อีก 15 ปี ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม ถนน 2 ช่องจราจรเชื่อมทวายกับบ้านพุน้ำร้อน ท่าเรือขนาดเล็ก เขตที่อยู่อาศัย อ่างเก็บน้ำและระบบประปา โรงไฟฟ้าชั่วคราว โรงไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคมผ่านสาย และท่าเรือ LNG

แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองในเมียนมาไม่นิ่งและปัญหาต่าง ๆ ทำให้โครงการสะดุดหยุดไซต์มานานหลายปี ล่าสุดต้องรีวิวแผนพัฒนาพื้นที่ใหม่ทั้งยวง เพื่อให้โครงการได้ไปต่อ พัฒนา 8,000 ไร่ แบ่งเป็น 5 เฟส เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากรัฐบาลเมียนมา แต่ถูกบอกเลิกสัญญาอย่างที่ตกเป็นข่าวใหญ่

โครงการนี้ใช้เวลาผลักดันมาหลายปี แต่มีความก้าวหน้าน้อยมาก ขณะที่ผู้ถือหุ้นอิตาเลียนไทยฯก็ถามไถ่ทุกปีเวลามีประชุม และจากความล่าช้าของโครงการ ทำให้บริษัทต้องบันทึกไว้ว่าเป็นความเสี่ยง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาธุรกิจ สถานะการเงิน

อีกโครงการ “เหมืองแร่โพแทช” ที่ จ.อุดรธานี ที่ทุ่มลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท ซื้อสิทธิสัมปทานจากแคนาดา ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ยังติดหล่มการขอสัมปทานบัตร หากไม่ได้อาจจะส่งผลในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ สถานะทางการเงิน

ขณะที่สถานการณ์ของบริษัทนายใหญ่ “เปรมชัย กรรณสูต” เปิดเผยว่า ในปี 2563 ผลประกอบการไม่ค่อยดี งานใหญ่ดีเลย์หลายงาน รายได้โดยรวมลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท จากคาดการณ์ 50,000-60,000 ล้านบาท เหลือไม่ถึง 50,000 ล้านบาท

“ปี 2564 งานจะเยอะ เพราะปีที่แล้ว เซ็นสัญญางานใหญ่ไปจำนวนมาก จะมีทั้งรถไฟไทย-จีน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะมีรายได้ 60,000 ล้านบาทขึ้นไป”

นายใหญ่อิตาเลียนไทยฯยังบอกว่า ปัจจุบันมีงานในมือเป็นงานก่อสร้างภายในประเทศรวม 300,000 ล้านบาท มีงานรถไฟไทย-จีน รถไฟทางคู่ งานอาคารขนาดใหญ่ ๆ ยังไม่รวมงานต่างประเทศอีก 50,000-60,000 ล้านบาท ที่ยังมีงานโครงการก่อสร้างที่ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างรถไฟฟ้า MRT ท่าเรือ ถนน โดยจะทยอยรับรู้รายได้อีก 4 ปี เฉลี่ย 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี

“ในปีนี้รอเซ็นงานใหญ่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ร่วมกับกลุ่ม ซี.พี. ซึ่งทาง ซี.พี.จะให้เราได้สร้างงานโยธาประมาณ 102,000 ล้านบาท และให้ทาง CRCC จากประเทศจีน ทำงานระบบรางกับระบบอาณัติสัญญาณ ภายในกลางปีนี้น่าจะมีความชัดเจนเรื่องส่งมอบพื้นที่จากรัฐ เมื่อได้พื้นที่เริ่มสร้างได้เลยช่วงแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ใช้เวลาสร้าง 3 ปี อีก 2 ปีเป็นงานติดตั้งและทดสอบระบบ”

นอกจากนี้ “เปรมชัย” ยังเฉลยกรณีที่บริษัทไม่ยื่นซองประมูล PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม “บางขุนนนท์-มีนบุรี” วงเงิน 1.28 แสนล้านบาทว่า สายสีส้มที่ไม่เข้ายื่นประมูล เนื่องจากในทีโออาร์คนที่เข้าร่วมได้ต้องเป็นโอเปอเรเตอร์รถไฟฟ้าและเป็นบริษัทไทย

จะมี 2 บริษัทที่ยื่นได้ คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงทพ (BTSC) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) แต่เราไม่ได้เข้าร่วมกับทั้ง 2 บริษัท ซึ่งการที่บริษัทยื่นขอเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลใหม่ เนื่องจากคิดว่าจะหาผู้ร่วมลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทรอรับช่วงงานก่อสร้างจาก BEM จะให้ร่วมก่อสร้างกับ ช.การช่าง

นอกจากรอสายสีส้มแล้ว ยังเตรียมตัวประมูลโครงการใหม่ในปีนี้ อาทิ รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-นครพนม งานขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น