ภูมิใจไทย-กทม.ฉะกันเดือด สัมปทานสายสีเขียว “อัศวิน” ท้าฟ้อง ป.ป.ช.

“กรรมาธิการคมนาคม” ยันค้านสัมปทานสายสีเขียว เหตุเวลาเหลือ 9 ปี ไม่ทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ขาดวินัยการคลัง ราคาค่าโดยสาร 65 บาทไร้ที่มา

การโต้แย้งระหว่างกระทรวงคมนาคม กับ กทม. ยังคงเดินหน้า ทุกประเด็น ทั้งการไม่เปรียบเทียบข้อมูลให้เห็น จ่อชง ครม.-คมนาคม-มหาดไทย ทราบ เล็งยื่น ป.ป.ช. ขอให้เลื่อนเก็บค่าตั๋วใหม่ 15-104 บาทไปก่อน คนเดือดร้อนเยอะ ผู้ว่ากทม. “อัศวิน” ลั่นเก็บค่าโดยสารแน่ 16 ก.พ.นี้ เว้น ครม.สั่งเบรก ซัด “คมนาคม” จุ้น ไล่ไปฟ้อง ป.ป.ช. ถ้าเห็นว่าผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 เวลา 13.13 น. ที่รัฐสภา นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม กมธ. กรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า กรรมาธิการมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) โดยมีข้อสังเกต 5 ประเด็น คือ

แจง 5 เหตุผลค้าน

1.กรอบเวลาในการต่ออายุสัมปทานยังเหลือเวลาอีก 9 ปี จึงจะกลายเป็นของรัฐ ซึ่งถือว่ายังมีเวลาอีกมากพอที่จะหาความชัดเจนและชี้แจงให้กับสังคมได้รับทราบว่าโครงการนี้ยังเป็นโครงการที่มีกำไร แต่ยังไม่คืนทุน

2.ความโปร่งใสในการต่ออายุสัมปทาน มีการอาศัยอำนาจตามตรา 44 ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยกเว้นกระบวนการ พ.ร.บ. ร่วมทุน 2562 ซึ่งกรรมาธิการเห็นว่า แม้จะใช้มาตรา 44 ยกเว้นได้แต่เงื่อนไขเวลายังเหลืออยู่ จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอะไรจะใช้มาตรา 44 ในการยกเว้นตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน 2562

ชี้ช่องไม่ทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน

ดังนั้น กทม.สามารถนำเรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ตามคำสั่ง คสช.มอบอำนาจให้กำกับหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวได้ แม้จะยึดคำสั่ง ม.44 แต่ต้องคิดด้วยว่า การทำตามคำสั่งนี้ จะทำให้รัฐคุ้มกับประโยชน์ที่จะได้หรือไม่ ถ้ารัฐเสียประโยชน์ก็ไม่ควรทำ และการไม่ทำตามคำสั่งก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะ กทม.สามารถเลือกได้ว่า จะทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 แทนก็ได้

3.ระบบวินัยการเงินการคลัง กรรมาธิการเห็นว่า กระบวนการต่อสัมปทานไม่ได้ยึดตามผ่านตามกระบวนการวินัยการเงินการคลังของรัฐที่มี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 กำกับไว้ และยิ่งเมื่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นโครงการขนาดใหญ่ ยิ่งควรจะตรวจสอบได้

4.อัตราค่าโดยสาร ขณะนี้ความเห็นยังไม่ตรงกัน เพราะข้อมูลที่ได้จากการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลคือไม่สามารถเอาข้อมูลมาแสดงต่อกรรมาธิการได้ว่า เหตุใดจึงไปจบที่ราคา 65 บาท และ 5.ความคุ้มทุนและประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนและรัฐจะได้รับ จากการที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ไม่สามารถชี้แจงได้ว่า ถ้าไม่ต่ออายุสัมปทาน รัฐจะเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์อย่างไร

ชงทุกหน่วยงาน เล็งยื่น ป.ป.ช.ด้วย

หลังจากนี้ คณะกรรมาธิการจะนำมติดังกล่าวนำเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) และอาจจะยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ช่วยตรวจสอบในทางหนึ่งด้วย

ขอ กทม.ชะลอเก็บค่าโดยสารใหม่

นอกจากนี้ กรรมาธิการมีมติให้ กทม.ชะลอการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราใหม่ 15-104 บาท ซึ่งมีกำหนดจะเก็บในวันที่ 16 ก.พ. 2564 นี้ออกไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

“ผมบอกเขาแล้วว่า ตอนนั้นจะเก็บ 65 บาท ทำไมตอนนี้มาเก็บ 104 บาท เขาให้เหตุผลว่าเป็นการบูรณาการตลอดเส้นทาง การกำหนดค่าโดยสารเป็นเรื่องที่กำหนดในสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว แต่กรรมาธิการไม่ได้ระบุว่าควรเก็บเท่าไหร่นะ แต่ให้ชะลอค่าโดยสารใหม่ไปก่อน” นายโสภณกล่าว

ซัด กทม.ไม่ให้ความสำคัญกับสภา

“กทม.ไม่ให้ความสำคัญกับงานสภาเลย ส่งแต่ ผอ.กองมาตอบคำถาม ไม่ได้ส่งระดับนโยบายมา ทำให้การตอบคำถาม ตอบได้ไม่ครบ ฉะนั้น มันต้องเอาผู้บริหารระดับนโยบายมาตอบ ถ้าได้ผู้บริหารมาตอบข้อมูลน่าจะดีกว่านี้” นายโสภณกล่าว

“อัศวิน” ไม่ถอย เว้น ครม.สั่งชะลอ

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู่ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่มีแนวคิดจะชะลอการเก็บค่าโดยสาร 15-104 บาทออกไป ยืนยันว่า 16 ก.พ. 2564 นี้ เก็บแน่ แต่จะชะลอได้รัฐบาลต้องสั่งลงมา

“กระทรวงคมนาคมทำหนังสือให้ชะลอจริง ซึ่งเขามีเหตุผลของเขา ผมก็มีเหตุผลของผม ถ้าชะลอไปอีก ผมจะเอาเงินที่ไหนจ่ายเขา (BTSC) นี่คือเหตุผลของผม แต่ถ้า ครม.อนุมัติสัมปทานก็จบ” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ส่วนการพิจารณาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อไหร่ ไม่ทราบ รอครม.ตัดสินใจ

เดือด “คมนาคม” ไม่มีอำนาจสั่ง กทม.

ส่วนที่มีการติติงถึงค่าโดยสารที่มีราคาแพงและกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่บอกได้เลย สายอื่น เทียบ กม./กม.กับสายสีเขียวแล้วไม่ได้ถูกกว่ากันเลย สายสีน้ำเงินค่าโดยสารอยู่ที่ 1.60 บาท/กม. ส่วนสายสีเขียวอยู่ที่ 1.23 บาท/กม. แล้วสายทางพวกนั้น รัฐบาลอุ้มออกค่าก่อสร้างให้ ส่วนสายสีเขียว รัฐบาลไม่ออกค่าโดยสารให้แม้แต่สลึงเดียว ซึ่งกระทรวงคมนาคม คุณไม่มีอำนาจมาสั่ง กทม.นะ

ไล่ “คมนาคม” ไปฟ้อง ป.ป.ช.ถ้าเห็นว่าผิด

“เรื่องค่าโดยสารที่เขาเสนอเป็นเรื่องของเขา (กระทรวงคมนาคม) ไม่ใช่เรื่องของผม แล้วเรื่องสายสีเขียวเป็นเรื่องของผม ไม่ใช่เรื่องของเขา ของผมถูกกว่าเองอย่างนี้แล้วกัน ส่วนที่อ้างว่าสายสีน้ำเงินเชื่อมสายสีม่วงราคาสูงสุดไม่เกิน 54 บาท ถามว่าของเขาระยะทางกี่กิโลเมตร? และรัฐบาลออกเงินก่อสร้างให้เขา เขาเลยกำหนดค่าโดยสารที่ถูกกว่าได้ และขั้นตอนที่ผมทำตามคำสั่ง คสช.ถูกต้องแล้ว ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องไปฟ้อง ป.ป.ช.เลย” พล.ต.อ.อัศวิน ทิ้งท้าย