เงินเดือน 6 หมื่น ขอสินเชื่อบ้านลำบาก แบงก์เพิ่มเกณฑ์ป้องกันความเสี่ยง

ภาพโดย mastersenaiper จาก Pixabay

อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเผย ยุคโควิดพนักงานประจำรายได้เดือนละ 6 หมื่นบาท เริ่มขอสินเชื่อลำบาก แบงก์ลดเพดานสินเชื่อป้องกันความเสี่ยง โดยที่ “โคราช” ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง 70% 

วันที่ 22 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งสูง เนื่องจากธนาคารเพิ่มเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อ

นายวรยุทธ์ กิตติอุดม อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีที่แล้วสถานการณ์โควิดมีผลกระทบต่อธุรกิจที่อยู่อาศัยรุนแรง โดยเฉพาะยอดปฏิเสธสินเชื่อ (reject rate) หรือกู้ไม่ผ่าน มีสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 80% ขณะที่ปีนี้เจอโควิดรอบใหม่ ยิ่งซ้ำเติมปัญหากู้ไม่ผ่านอีก

เดิมปัญหากู้ไม่ผ่านยุคก่อนโควิดจะเป็นอาชีพอิสระ มาปี 2563 มนุษย์เงินเดือนที่ถือว่ามั่นคง แต่แบงก์เพิ่มเกณฑ์พิจารณาสินเชื่อ โดยนำปัจจัยความเสี่ยงของบริษัทเป็นองค์ประกอบ เพราะหลายธุรกิจปิดกิจการ หรือลดเงินเดือนพนักงาน เช่น นักบิน พนักงานต้อนรับสายการบิน ทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงในสายตาแบงก์

“ยุคโควิดพนักงานประจำรายได้เดือนละ 60,000 บาท เริ่มขอสินเชื่อลำบาก นอกจากปัญหารีเจ็กต์เรตปกติแล้ว แบงก์ยังไปลดเพดานสินเชื่อด้วยเพราะต้องการป้องกันความเสี่ยงระดับสูงสุด เช่น ปกติ LTV ในการขอสินเชื่อซื้อบ้านแนวราบ คือ ปล่อยกู้ได้ 95% ปรากฏว่ายุคนี้แบงก์ถอยเพดานเงินกู้เหลือ 90% ฉะนั้น แทนที่ลูกค้าจะดาวน์แค่ 5% กลายเป็นต้องดาวน์ 10% จุดนี้แหละที่ทำให้ปัญหากู้ไม่ผ่านทวีความรุนแรงขึ้นมาก”

ด้านนายวีรพล จงเจริญใจ ที่ปรึกษาสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.นครราชสีมา และประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 ที่เริ่มใช้ LTV-loan to value ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงจาก 30% เป็น 50% มาปี 2563 เจอผลกระทบโควิดทำให้ขยับขึ้นเป็น 70%

ข้อสังเกต คือ แบงก์เข้มงวดคุณสมบัติผู้กู้มากขึ้น ผู้มีอาชีพมั่นคงในอดีตกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง อาทิ อาชีพนักบิน และพนักงานต้อนรับสายการบิน มีการรีวิวคำขอสินเชื่อ ที่น่าแปลกใจ คือ ลูกค้าวิชาชีพหมอ โดยเฉพาะคุณหมอในโรงพยาบาลเอกชนที่มีคนไข้น้อยลง ทำให้การพิจารณาสินเชื่อเข้มงวดขึ้นกว่าปกติ

โดยที่อยู่อาศัย 3-5 ล้านบาท ในโคราชมียอดปฏิเสธสินเชื่อมากที่สุด โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวชั้นเดียวราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ไม่มีเงินออมทำให้แบงก์มองว่ามีความเสี่ยงสูง รัฐควรมีมาตรการดูแลผู้ซื้อ ส่วนผู้ประกอบการอยากได้เงินกู้ซอฟต์โลนเพื่อให้ประคองกิจการได้