รฟม.ล้มแผนเวนคืน4พันล้าน ตัดใจโยกจุดจอดรถเข้าเดโป้พระรามเก้า

สายสีส้มปั่นราคาที่ดินย่านรัชดาฯทะยานวาละ 1 ล้าน รฟม.ล้มแผน TOD พื้นที่ 10 ไร่ รอบสถานีศูนย์วัฒนธรรม พ่วงอาคารจอดแล้วจร ติดหล่มเวนคืน 4 พันล้าน บอร์ด รฟม.ไฟเขียวโยกโครงการไปสร้างในเดโป้ ประหยัดงบฯได้กว่า 2.2 พันล้าน ประเดิมเฟสแรก 350 คัน วงในเผย 2 บิ๊กแลนด์ลอร์ดเสียดายที่ดิน รอจังหวะรถไฟฟ้าเปิดหวูด ลุยพัฒนาโครงการเอง รับฮับธุรกิจ

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติให้ขยับตำแหน่งอาคารจอดแล้วจรสถานีศูนย์วัฒนธรรมของรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ไปสร้างอยู่บริเวณสถานี รฟม.อยู่ตรงหน้าสำนักงาน รฟม.แทน เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินและค่าใช้จ่ายลงได้ 2,200 ล้านบาท

“ผลศึกษาเดิมจะสร้างที่จอดรถเพิ่มเติมที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม ห่างจากอาคารเดิมประมาณ 500 เมตร แต่เนื่องจากบริเวณนั้นจะต้องเวนคืนที่ดินค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันราคาที่ดินก็ค่อนข้างแพง จึงศึกษาแนวทางใหม่เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดิน 10 ไร่ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 2,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้เมื่อย้ายไปสร้างบนที่ดินของ รฟม.เองตรงศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) จะมีสถานี รฟม.ด้วย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้ และจะไม่กระทบต่อวงเงินค่าจ้างผู้รับเหมา เพราะตอนประมูลคิดราคาสร้างเป็นลานจอดระดับดิน และใช้เงินก่อสร้างไม่มาก

นายฤทธิกากล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบอาคารใหม่ คงต้องทำรายละเอียดอีกครั้ง จะสร้างอยู่บริเวณไหน เนื่องจากในอนาคตบริเวณนี้นอกจากจะมีสถานีแล้ว ยังมีอาคารสำนักงานใหม่ของ รฟม.ด้วย ยังมีเวลาดำเนินการออกแบบ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีส้มจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยเฟสแรกคาดว่าจะจอดรถได้ 350 คัน หลังจากนั้นจะพัฒนาในเฟสต่อไป เมื่อมีความต้องการมากขึ้น

“ที่ดิน 10 ไร่ตรงนั้น เป็นที่ดินของเอกชน จริง ๆ เราใช้สร้างเป็นอาคารจอดไม่ถึง แต่เนื่องจากจะต้องใช้ที่ดินของชาวบ้านเพื่อทำทางเข้าออก และกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไปทำถนน ทำให้ต้องใช้ที่ดินค่อนข้างมาก”

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ก่อสร้างอาคารจอดรถสถานีศูนย์วัฒนธรรมตามแผนเดิม มีเนื้อที่ 10 ไร่ จะสร้างอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับศูนย์การค้าเอสพลานาด ซึ่ง รฟม.จะต้องมีการเวนคืนที่ดินของเอกชนประกอบด้วยที่ดินของบริษัทแหลมทองค้าสัตว์ ประมาณ 3 ไร่ กับที่ดินแปลงรัชดา บิสซิเนส เซ็นเตอร์ ของ น.พ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ประมาณ 7 ไร่ ใช้เงินเวนคืนกว่า 2,000 ล้านบาทหรือเฉลี่ยราคาตารางวาละ 1 ล้าน รฟม.จึงทบทวนใหม่ ประกอบกับมีข้อร้องเรียนเรื่องเวนคืนที่ดินราคาแพงเพื่อสร้างที่จอดรถไม่คุ้ม จึงปรับวิธีการใหม่จะใช้การจัดรูปที่ดินแทน

พร้อมทั้งปรับลดขนาดที่ดินจาก 10 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท เหลือ 5 ไร่ มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายเอกชนไม่ยอม เนื่องจากเสียดายที่ดิน และต้องการนำไปพัฒนาโครงการรองรับรถไฟฟ้าในอนาคต ทำให้ รฟม.ต้องโยกอาคารจอดแล้วจรไปสร้างที่สถานี รฟม.แทน เพื่อไม่ให้โครงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า

“เดิมจะใช้การจัดรูปที่ดินและให้เจ้าของที่ดินร่วมพัฒนาได้ในรูปแบบ TOD เหมือนที่ต่างประเทศ ซึ่งรัฐและเอกชนจะได้ประโยชน์ร่วมกัน รัฐได้ที่จอดรถ ที่ดินของเอกชนที่ตาบอดจะมีทางเข้าออกและสามารถพัฒนาส่วนที่เหลือมาต่อยอดได้เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ เพราะสถานีศูนย์วัฒนธรรมจะเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้า 2 สายคือสีส้มกับสีน้ำเงิน”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ รฟม.มีแนวคิดจะร่วมกับเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนสร้างสถานีศูนย์วัฒนธรรมของสายสีส้มประมาณ 7-10 ราย จัดรูปที่ดินรอบสถานีศูนย์วัฒนธรรมรัศมีครอบคลุมจากถนนรัชดาภิเษกถึงถนนศูนย์วัฒนธรรม อาทิ บจ.รัชดา บิสสิเนส ดิสตริค เจ้าของที่ดิน 50 ไร่ ติดกับอาคารจอดแล้วจร ปัจจุบันขายต่อให้กับนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิทยากร ผู้ถือหุ้นใหญ่ โรงพยาบาลกรุงเทพ, กลุ่มตระกูลสถิตธรรมรัตน์, กลุ่ม บจ.แหลมทองค้าสัตว์ ของนายยงศักดิ์ คณาธนะวนิชย์ มีที่ดินอยู่ประมาณ 24 ไร่, ที่ดินของนายแพทย์อานนท์ วรยิ่งยง, ที่ดินของนายพันธ์เลิศ ใบหยก และที่ดินของ บจ.ร่วมพัฒนาอุตสาหกิจ คาดว่าจะมีที่ดินได้จากการจัดรูปประมาณ 10 ไร่