เอสซีจีทุ่ม6พันล้านรุกดิจิทัล มุ่งนวัตกรรมรับสังคมสูงวัย

เอสซีจีทุ่ม 6 พันล้าน เพิ่มช่องทางขายสินค้าและบริการ รับโลกยุคดิจิทัล ชูธงทำตลาดทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ รุกหนักค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมเพื่อคนสูงวัย ใช้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบพัฒนาครบวงจร เดินหน้าขยายตลาด CLMV ต่อเนื่อง มั่นใจโค้งสุดท้ายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ-สารพัดปัจจัยบวกหนุนเศรษฐกิจโต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจช่วงครึ่งหลังปี 2560 เอสซีจีไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากนัก มีเพียงบางอย่างที่ต้องปรับ เช่น เรื่องของดิจิทัล, อินดัสทรี 4.0 และเรื่องออโตเมชั่น ซึ่งคงหนีไม่พ้นการที่เอสซีจีปรับตัวเรื่องพวกนี้ได้ก่อนคนอื่นถือเป็นเรื่องที่ดี สำหรับเอสซีจีได้นำเอาดิจิทัลเข้ามารวมอยู่ในนวัตกรรม หรืออินโนเวชั่น ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีลงทุนเรื่องนวัตกรรมเยอะมาก ทั้งในด้านการลงทุน และการบริการลูกค้า

ทุ่ม 5-6 พันล้านรับโลกยุคดิจิทัล

เรื่องดิจิทัลในแง่ธุรกิจ เอสซีจีศึกษาอย่างเป็นระบบเมื่อปีที่ผ่านมา โดยใช้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วย ลงทุนไป 5,000-6,000 ล้านบาท เอสซีจีไม่ได้มองว่าดิจิทัลจะมาทดแทนอะไร แต่เป็นเพราะรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจมาก จากการศึกษาพบว่าเราคงต้องเปลี่ยนตัวเอง เพื่อช่วยเสริมศักยภาพการทำธุรกิจ ส่วนการขายสินค้าทางออนไลน์ เอสซีจีเริ่มมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันได้เพิ่มช่องทางขายทาง “ไลน์” เข้าไปด้วย

เพิ่มช่องทางขาย-บริการ

อย่างไรก็ตาม การขายสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ “บีทูบี” ขณะที่การขายแบบ “บีทูซี” สัดส่วนยังน้อยอยู่ แต่พยายามจะเพิ่มให้มากขึ้น โดยสินค้าเอสซีจีส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการให้บริการ ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าพร้อมบริการเป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้กำลังคุยกันว่าจะปรับโฉมใหม่ใน 3 เรื่อง คือ 1.ข้อมูลข่าวสาร (ดิจิทัลคอนเทนต์) ที่ลงไปถึงลูกค้า ต้องมีครบทุกรูปแบบ เพิ่มช่องทางสื่อสารให้มากขึ้น และเพิ่มช่องทางมือถือให้มีทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก 2.เรื่องของการมองไปข้างหน้า หรือเทรนด์ 3.เรื่องของเทคโนโลยีจะทำให้มากขึ้นไปอีก

ตอบโจทย์ลูกค้าคนรุ่นใหม่

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่เอสซีจีต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องดังกล่าว เป็นเพราะมีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น และคนรุ่นใหม่จะสนใจเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของทางออนไลน์

“เราปรับช่องทางการขาย พยายามทำให้เป็นดิจิทัลที่ดูง่าย ใช้ง่าย ตอบสนองกับคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันการบริการก็ยังมีอยู่ เพราะคนเหล่านี้ถึงแม้จะซื้อสินค้าไปแล้ว แต่ก็ยังต้องการการบริการ ดังนั้นยังต้องมีเซอร์วิสเซ็นเตอร์ แต่รูปแบบอาจเปลี่ยนใหม่ เช่น การสต๊อกสินค้าอาจไม่จำเป็นแล้ว เราสามารถส่งของไปถึงลูกค้าจากที่ไหนก็ได้ ส่วนดีลเลอร์จะทำแพลตฟอร์มนี้ให้ ที่เขาทำเองอยู่แล้วก็มี ก็ให้เขาทำไป”

รุกสินค้านวัตกรรมรับสังคมสูงวัย

นายรุ่งโรจน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่เอสซีจีต้องศึกษาเพิ่มเติมและให้ความสำคัญมากขึ้น คือ สินค้านวัตกรรมคนสูงอายุ รองรับสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับดีมาก แต่ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไปอีก เช่น ไปดูตัวอย่างที่ญี่ปุ่น พบว่าสินค้าของเขามีคุณภาพและทำแบบครบวงจร โดยเจาะรายละเอียดลงไปถึงแต่ละช่วงอายุของคนแก่ ยกตัวอย่าง อายุ 60-65 ปี ต้องการการดูแลน้อยมาก สินค้าจะเป็นแบบหนึ่ง อายุ 65-70-75 ปี ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ระยะช่วยตัวเองไม่ได้ก็อีกแบบหนึ่ง สุดท้ายพวกติดเตียง สินค้าจะเป็นอีกแบบ สเปซที่ใช้ก็ต่างกัน ดังนั้น คิดว่าเอสซีจีต้องทำแบบเจาะลึกลงไปถึงทุกเซ็กเมนต์เช่นที่ญี่ปุ่นทำ

สำหรับธุรกิจขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน “เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส” หรือ “แมวดำ” ซึ่งร่วมทุนกับยามาโตะ เอเชีย ตอบสนองการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การซื้อขายผ่านออนไลน์และความเป็นเมืองนั้น เวลานี้พยายามเร่งขยายเพิ่มอีก ในเมืองใหญ่ ๆ มีครบแล้ว แต่ธุรกิจนี้ต้องยอมรับว่าแข่งขันกันสูงมาก ตอนนี้มีผู้ประกอบการ 10 กว่าเจ้าแล้ว อย่างไรก็ดี ตนอยากให้ความสนใจเรื่องการค้าชายแดน อาจมองข้ามเรื่องนักท่องเที่ยวที่เข้ามาบริเวณชายแดน ปีหนึ่ง 30 กว่าล้านคน เป็นตัวเลขที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้

ปี”61 สารพัดปัจจัยบวกหนุน ศก.

นายรุ่งโรจน์กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ครึ่งแรกของปี 2560 อาจติดลบบ้าง แต่ครึ่งปีหลังคงไม่แย่ และน่าจะดีขึ้น รวมไปถึงไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งมีปัจจัยหนุน เช่น ผลิตผลทางการเกษตรมีราคาดีขึ้น การใช้จ่ายต่าง ๆ ดีขึ้น อีกอย่างคือภาครัฐเร่งการทำโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ตลาดนอกประเทศส่วนใหญ่พอไปได้ กัมพูชาบูมมากที่สุด ที่มีปัญหาคือเวียดนาม ปีนี้เวียดนามแย่ เพราะทรายขาดตลาด เนื่องจากมีการตรวจสอบใบอนุญาตการดูดทรายของบริษัทต่าง ๆ ในเวียดนาม พบว่าผิดกฎหมายหมดเลย จึงทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างในเวียดนามหยุดชะงักเพราะไม่มีทราย อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่อจากนี้จะขยายธุรกิจในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนปี 2561 สถานการณ์จะเป็นอย่างไรนั้น ดูแนวโน้มหลายอย่างปีหน้า (2561) น่าจะดีขึ้น ที่น่าสนใจคือส่วนหนึ่งเศรษฐกิจเราเรื่องการส่งออกยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะว่าเรามีฐานอยู่แล้ว ถึงแม้มองว่าฐานนี้อาจมีการปรับฐานให้ดีขึ้นเป็น ไทยแลนด์ 4.0 แต่มันมีฐานอยู่ แรงงานอุตสาหกรรมยังมีอยู่ โรงงานอุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้น เรื่องส่งออกต้องดูให้ดี ๆ ผมคิดว่าเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว รัฐบาลออกมาพูดเหมือนกันเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องคิดให้ดี ๆ ของเรานี่ค่าเงินบาทแข็งมาตลอด ถ้าเทียบกับทุกชาติเพื่อนบ้าน และอีกอย่างการค้าชายแดนจำเป็นต้องให้สินค้าเราแข่งขันให้ได้ ถ้าสินค้าเราแข่งไม่ได้ สักพักสินค้าจีนจะเข้ามาตีตลาด ฉะนั้นต้องเข้าไปสร้างมาร์เก็ตแชร์ตรงนี้ให้ได้ คิดว่านโยบายต้องช่วย อย่างน้อยต้องพยายามอย่าให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งเกินไป” นายรุ่งโรจน์กล่าว