รฟม.โต้ “สามารถ” ค่าตั๋ว รถไฟฟ้าสายสีส้ม เก็บจริงแค่ 15-45 บาท

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

“รฟม.” แจงค่าโดยสารสายสีส้มที่สูงถึง 62 บาท เป็นค่าโดยสารตามผลการศึกษาเดิม ชี้ “คมนาคม” มีนโยบายช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ ลดเพดานเหลือ 15-45 บาท ส่วนการเดินทางแบบข้ามสาย หากเป็นในระบบของ รฟม.เองเสียแรกเข้าครั้งเดียว สูงสุดไม่เกิน 98 บาท ชี้อนาคตอาจรวบทุกสายทางของ รฟม.เป็นอัตราค่าโดยสารรวม

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 25 ม.ค.2564 ที่ทำการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า กรณีที่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์กรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีราคาแพงพอ ๆ กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เป็นการนำข้อมูลในรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการ (รายงาน PPP) ซึ่งมีการระบุราคาอ้างอิง ณ วันที่ 1 ม.ค. 2566 ค่าโดยสารจะอยู่ที่ระหว่าง 17-65 บาท คิดเป็นค่าโดยสารตามระยะทาง 3-4 บาท/สถานี

ชี้เป็นราคาตามผลศึกษา

โดยข้อมูลนี้เป็นข้อมูลพื้นฐาน คำนวณจากมาตรฐานการคำนวณราคาของ รฟม. (MRT Assessment Standardization) โดยมีสูตรคำนวณตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 กำหนดไว้ และมีหลักในการปรับราคาค่าโดยสารอิงตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Non-food & Beverages) สำหรับให้เอกชนใช้อ้างอิงในการจัดทำข้อเสนอร่วมลงทุนโครงการเท่านั้น ดังนั้น ค่าโดยสารดังกล่าว จึงไม่ใช่อัตราค่าโดยสารที่ รฟม.จะประกาศใช้จริง ๆ

และเนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เจรจากับเอกชนที่ผ่านการประเมินปรับลดค่าโดยสารให้เหมาะสมและสอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน (Willigness to Pay) โดยคาดว่าราคาที่เหมาะสมของรถไฟฟ้าสายนี้จะอยู่ที่ 15-45 บาท

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้งเส้นทางมีระยะทางรวม 35.9 กม. จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นฝั่งตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กม. มีจำนวนสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานี/ยกระดับ 7 สถานี) และฝั่งตะวันตกช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด ประเมินผู้โดยสาร ณ ปี 2567 ที่เปิดให้บริการครบทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกอยู่ที่ 400,000 เที่ยวคน/วัน และหากเปิดเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีผู้โดยสารเริ่มต้นที่ 100,000 เที่ยวคน/วัน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียยค่าโดยสารเฉลี่ยกับสายสีชมพูและสายสีเหลือง สายสีส้มจะมีค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 3-4 บาท/สถานี ขณะที่สายสีชมพูและสายสีเหลืองจะมีค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 2-3 บาท/สถานี แต่ราคานี่เป็นการอ้างอิงตามผลการศึกษาร่วมลงทุนและมาตรฐานการคำนวณของ รฟม. ซึ่งสายสีส้มตั้งอยู่ฐานของราคาสูงสุดที่ 62 บาท แต่หากใช้อัตราราคา 15-45 บาท จะมีค่าโดยสารเฉลี่ย 2.5 บาท/สถานี

ข้าม 3 สาย ค่าโดยสาร 98 บาท

ขณะที่การเดินทางข้ามสาย หากเป็นโครงการที่ รฟม.ดูแลทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม ได้กำหนดในสัญญาแล้วว่า จะเรียกเก็บค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียวไม่ว่าจะเดินทางข้ามสายเท่าไหร่ก็ตาม ส่วนราคาค่าโดยสารในแต่ละสายทางจะกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 12 สถานี ซึ่งหากเดินทางข้ามสาย 3 สายทาง จะมีค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 98 บาท อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว รฟม.ก็มีแนวคิดที่มีอัตราค่าโดยสารรวม (Common Fair) เหมือนอย่างต่างประเทศเช่นกัน


ส่วนการเปรียบเทียบสายสีส้มกับสายสีเขียว ที่จริงก็พอเทียบกันได้ เพราะเป็นเรื่องของผู้โดยสารที่มีความพร้อมในการใช้จ่าย เพราะรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาสูงกว่าโหมดอื่น ๆ เพราะมีความสะดวกสบายและตรงต่อเวลามากกว่าระบบอื่น