ทุ่ม 4 หมื่นล้านสร้าง “ทางด่วนภูเก็ต” เปิด PPP สายใหม่ “กระทู้-ป่าตอง”

“ศักดิ์สยาม” ฝ่าโควิดผุดไอเดียใหม่รับปี’64 รวบ 3 โครงการก่อสร้างถนน-ทางด่วนแก้จราจรพื้นที่ภูเก็ต เป็นโครงการทางด่วนสายใหม่ ระยะทาง 38.38 กม. พาดยาว “กะทู้-ป่าตอง-เกาะแก้ว-เมืองใหม่” ดึงเอกชนลงทุน PPP วงเงิน 39,400 ล้านบาท แลกรับสัมปทานเก็บค่าผ่านทาง ลดภาระงบประมาณรัฐบาล ด้านบิ๊ก กทพ.ขอแบ่งลงทุนเป็นเฟส พร้อมสุด “กะทู้-ป่าตอง” รอบอร์ด PPP ครม.กดปุ่มไฟเขียวอีก 2 โครงการ ขอเวลาศึกษา 2 ปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ได้ประชุมการบูรณาการระหว่างโครงข่ายทางหลวงและทางด่วนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รายงานว่า ปัจจุบัน จ.ภูเก็ตมีโครงการพัฒนาเส้นทางอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ 1.ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 14,177 ล้านบาท มี กทพ.เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ และโครงการทางหลวงเมืองใหม่-เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. วงเงิน 22,718 ล้านบาท มีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นเจ้าของโครงการ

เปิดเอกชนร่วม PPP

สำหรับสถานะของโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 35 ปี ก่อสร้าง 5 ปี บริหารซ่อมบำรุง 30 ปี วงเงิน 14,177 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 5,792 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 8,385 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 20% ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอรูปแบบลงทุนให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2569

ส่วนโครงการทางหลวงเมืองใหม่-เกาะแก้ว จะใช้งบประมาณแผ่นดินก่อสร้าง 22,718 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 11,150 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 11,568 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 11.03% ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2569

ผุดช่วงเกาะแก้ว-กะทู้เติมให้เต็ม

“ทั้งนี้ 2 โครงการมีปัญหาไม่เชื่อมต่อกัน มีส่วนที่ขาดหายไป หรือเรียกว่า missing link ประมาณ 12 กม. จึงมีการเสนอโครงการต่อเชื่อม 2 โครงการ คือ ทางด่วนช่วงเกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทางประมาณ 11.9 กม. จะนำโครงการนี้ศึกษาร่วมกับโครงการทางหลวงเมืองใหม่-เกาะแก้วของกรมทางหลวงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้ทางและแก้ปัญหาจราจรใน จ.ภูเก็ต จึงเห็นควรให้มีการโอนโครงการทั้ง 3 โครงการรวมเป็นโครงการเดียวกัน และให้ กทพ.เป็นผู้ดำเนินการ” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ได้ให้นโยบายการลงทุนในโครงการช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว ซึ่งใช้เงินงบประมาณกว่า 22,718 ล้านบาท กรมทางหลวงมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ และความคุ้มค่าด้านการจราจรเป็นอย่างไร หากโครงการมีความคุ้มค่าทางจราจรให้พิจารณาปรับแผนลงทุนให้เป็น PPP จะดีกว่า เนื่องจากรัฐบาลมีภาระการใช้งบประมาณค่อนข้างมากอยู่แล้ว

และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้งบฯลงทุนต่าง ๆ อาจจะถูกตัดลงได้ อย่างเช่น งบประมาณปี 2565 ทราบว่าจะมีการตัดงบฯลงทุนออกประมาณ 29,000 ล้านบาท หากจะให้มีการผลักดันโครงการนี้ไปสู่การปฏิบัติได้จริง ควรปรับเป็น PPP และรวมทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการเดียว เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นเอกภาพและการเชื่อมต่อการเดินทางทำได้อย่างสะดวกและง่ายต่อการดำเนินการ โดยให้เวลา 1 เดือนจะต้องกลับมารายงานความคืบหน้า

ลุย “กะทู้-ป่าตอง” ไม่ศึกษาใหม่

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รับทราบถึงแผนงานดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้น กทพ.คงไม่นำทางด่วนช่วงกะทู้-ป่าตองกลับมาทบทวนใหม่ เนื่องจากโครงการคืบหน้าไปมากแล้วและผ่าน EIA แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่าง สคร.เสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณารูปแบบลงทุน PPP net cost 35 ปี

“สคร.ขอให้ กทพ.ส่งใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าบริเวณเขานาคเกิดในการเจาะอุโมงค์ได้ให้ สคร.ตรวจสอบ ซึ่ง กทพ.ได้ส่งให้แล้วเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังวางไทม์ไลน์โครงการไว้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ บอร์ด PPP จะเสนอการลงทุนโครงการให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.เห็นชอบ เพื่อเปิดประมูล คาดว่าจะได้เอกชนลงทุนในปี 2565”

ขอ 2 ปีรวบเป็นโครงการเดียว

ส่วนอีก 2 โครงการ คือ ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้วกำลังขอข้อมูลผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจากกรมทางหลวง เท่าที่ประเมินเบื้องต้นโครงการนี้มี FIRR น้อย หากปรับเป็น PPP อาจจะไม่จูงใจเอกชนเข้ามาลงทุนโครงการ เนื่องจากโครงการนี้ออกแบบเป็นทางหลวงแผ่นดิน และอีกโครงการช่วงเกาะแก้ว-กะทู้ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่ง กทพ.คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีในการศึกษารวบทั้ง 2 โครงการเป็นทางด่วน ใช้เงินลงทุน 25,223 ล้านบาทถึงจะสามารถกำหนดแผนงานเดินหน้าได้