เปิดโพยค่าโดยสาร “รถไฟฟ้า” นั่งระยะสั้นจ่ายหนัก-เสียหลายต่อ

ต้องยอมรับว่า “รถไฟฟ้า” เป็นขนส่งสาธารณะที่ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น แม้ต้องแลกกับ “ค่าโดยสาร” ที่ถูกวิพากษ์ว่า “อาจจะเแพงเกินไป” สำหรับประเทศไทย

เมื่อพลิกดูค่าโดยสารแต่ละสายแล้ว ตั้งราคาไม่ทิ้งห่างกัน สายไหนรัฐรับภาระค่าก่อสร้างก็จะถูกกว่าสายที่เอกชนลงทุน 100%

BTS นั่งสั้นไม่คุ้ม

“ค่าโดยสารใหม่” ของสายสีเขียว สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะเริ่มเก็บ 16 ก.พ. 2564 ราคา 15-104 บาทนั้น กำลังถูกวิจารณ์หนัก คือเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว จากนั้นเก็บเพิ่มสถานีละ 3 บาท หลังเปิดนั่งฟรีส่วนต่อขยาย “แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต” ตั้งแต่ปลายปี 2561

กทม.ประเมินว่า หากเดินทางจากส่วนหลักไปยังส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต จะมีค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 74 บาท และไปยังสายสีลม จบที่สถานีบางหว้า 86 บาท หากเดินทางจากส่วนหลักไปส่วนต่อขยายแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ค่าโดยสารสูงสุดที่ 74 บาท และไปสถานีบางหว้าอยู่ที่ 86 บาท และถ้าเดินทางทั้งระบบ ค่าโดยสารสูงสุดคือ 104 บาท

ค่าโดยสารทั้งหมดอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ตีคู่มากับสัญญาสัมปทานที่จะต่อให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) อีก 30 ปี ตั้งแต่ 2572-2602 ซึ่งมีประเด็นค่าโดยสารต้องพิจารณาด้วย รวมระยะทาง 68.25 กม. 59 สถานี เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มที่ 15 บาท สูงสุดไม่เกิน 65 บาท นับตั้งแต่สถานีที่ 19 และปรับค่าโดยสารทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)

จากราคาดังกล่าว ถ้าโดยสารระยะไกลจะคุ้มค่ากว่าระยะสั้น ๆ ไม่กี่สถานี เนื่องจาก “สายสีเขียว” เป็นเส้นทางเชื่อมใจกลางเมือง ส่วนใหญ่คนใช้บริการ 8-12 สถานี

รฟม.จัดโปรฯตั๋วม่วง-น้ำเงิน

“สายสีน้ำเงิน” หัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ มี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รับสัมปทาน วิ่งเป็นวงกลม เชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้าง BEM เดินรถ และเมื่อ 1 ม.ค. 2564 ได้ปรับค่าโดยสารขึ้น 1 บาท เป็น 17-42 บาท สัญญาให้ปรับขึ้นทุก 2 ปี ตาม CPI สายสีน้ำเงินคนใช้บริการเฉลี่ย 35 บาทต่อเที่ยว

ล่าสุด รฟม.จัดโปรโมชั่นบัตรโดยสารตั๋วเที่ยว 30 วัน ของสายสีน้ำเงิน สีม่วง และบัตร Multiline Pass สำหรับเดินทางข้ามระบบ สายสีม่วงเริ่ม 1 ก.พ.นี้ สายสีน้ำเงินและบัตร Multiline Pass จะเริ่ม 1 มี.ค.นี้ โดย รฟม.รับภาระค่าแรกเข้า 14 บาท แทนประชาชน หากเดินทางโดยไม่ใช้บัตรโดยสารนั่งสีม่วงต่อสีน้ำเงินเสียสูงสุด 70 บาท หากใช้บัตร Multiline Pass จ่าย 45-54 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวที่ซื้อ

สำหรับตั๋วเที่ยวที่ รฟม.จะเริ่มใช้นั้น สายสีน้ำเงิน เช่น มี 15 เที่ยว ราคา 450 บาท เฉลี่ย 30 บาทต่อเที่ยว,สายสีม่วง 15 เที่ยว ราคา 450 บาท เฉลี่ย 30 บาทต่อเที่ยว, และบัตร Multiline Pass เช่น 15 เที่ยว ราคา 810 บาท อยู่ที่ 54 บาท

แอร์พอร์ตลิงก์คนนั่งไม่เกิน 5 สถานี

“แอร์พอร์ตลิงก์” จากพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ มีบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริหาร กำลังนับถอยหลังโอนให้ “กลุ่ม ซี.พี.” ที่จะเข้าบริหาร ต.ค.นี้ เปิดมา 10 ปี ยังไม่ปรับค่าโดยสาร ยังเก็บ 15-45 บาท โดยมี 8 สถานี ส่วนใหญ่จะใช้บริการหนาแน่นช่วงเช้า-เย็น เพราะเชื่อมกับสายสีน้ำเงินที่เพชรบุรี และบีทีเอสพญาไทได้ และใช้บริการไม่เกิน 4-5 สถานี ทั้งนี้ ในสัญญาสัมปทานทางกลุ่ม ซี.พี.สามารถปรับค่าโดยสารได้ มีเพดานราคาจากพญาไท-สุวรรณภูมิ ไม่เกิน 45 บาทต่อเที่ยว แต่ถ้าเปิดส่วนต่อขยายเพิ่มเติมไปยังบางซื่อและดอนเมือง จะเก็บได้ไม่เกิน 97 บาทต่อเที่ยว

ขณะที่ “สายสีทอง” ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน มีระยะทาง 1.88 กม. ที่กลุ่มไอคอนสยามลงทุนก่อสร้างให้ กทม. เปิดใช้เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา มี 3 สถานี เก็บ 15 บาทตลอดสาย แต่เมื่อเข้าระบบบีทีเอสที่กรุงธนบุรี จะต้องเสียค่าแรกเข้าอีก 16 บาท

สายสีแดงคิดเป็นกิโลเมตร

ส่วนรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิดปีนี้ คือ “สายสีแดง” ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต 41 กม. 13 สถานี จะทดลองใช้ ก.ค. และเปิดทั่วไปแบบเก็บค่าโดยสาร พ.ย.นี้ ซึ่งรอ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อนุมัติราคา 14-42 บาท ลดจากเดิมที่จะเก็บ 15-50 บาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า สายสีแดงเป็นระบบรถไฟชานเมือง (commuter train) จะคิดค่าโดยสารต่างจากบีทีเอส MRT และสายสีม่วง โดยคิดเพิ่มตาม กม. เพราะระยะห่างแต่ละสถานีไม่เท่ากัน ใน 15 กม.แรกเก็บเริ่มต้น 14 บาท คิดเพิ่ม 2 บาทต่อ กม. ซึ่งจะเก็บไม่เกิน 42 บาท

“นั่งบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15 กม. มี 3 สถานี เก็บ 14-42 บาท หรือนั่งบางซื่อ-บางซ่อน 1 สถานี 2.5 กม. จะอยู่ที่ 19 บาท หากนั่งไปถึงรังสิตจะเก็บ 42 บาท” แหล่งข่าวกล่าว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง จะเปิดเต็มรูปแบบปี 2565 ค่าโดยสาร 14-42 บาท หากใช้ในระบบของ รฟม.จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียวคือ 14 บาท ส่วนสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี จะเปิดช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ปี 2567 เก็บ 15-45 บาท ลดลงจากผลศึกษาที่กำหนด 17-62 บาท

“หากเทียบค่าโดยสารสีชมพู สีเหลือง และสีส้ม จะเฉลี่ยที่ 3-4 บาท/สถานี ขณะที่สีชมพู-เหลืองจะเฉลี่ยที่ 2-3 บาท/สถานี เป็นราคาอ้างอิงตามผลศึกษาร่วมลงทุนและมาตรฐานคำนวณของ รฟม. ซึ่งสายสีส้มตั้งอยู่ฐานราคาสูงสุด 62 บาท แต่หากใช้อัตราราคา 15-45 บาท ค่าโดยสารเฉลี่ย 2.5 บาท/สถานี”

TDRI สะท้อนรถไฟฟ้าแพงจริง

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สายสีเขียวตั้งค่าโดยสารแพง เนื่องจากแรกเริ่มโครงการ รัฐไม่ได้คิดถึงปัจจัยด้านผลประโยชน์ของประชาชนและเศรษฐกิจ แต่เน้นที่ต้นทุนการลงทุนเป็นหลัก เมื่อสายสีเขียวสร้างเสร็จปี 2542 เป็นสายแรกของประเทศ จึงกลายเป็นรถไฟฟ้าที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดทันที ทำให้ BTSC ขาดทุน 10 ปีแรก และคืนทุนใน 10 ปีต่อมา จนพลิกกลับทำกำไรสูงสุดในช่วง 10 ปีที่ 3 ของสัญญาสัมปทาน

อีกทั้งการลงทุนรถไฟฟ้าในไทย ไม่เคยพิจารณาถึงการเชื่อมต่อกับสายอื่น ๆ ในลักษณะโครงข่ายร่วมกัน คิดแต่เฉพาะโครงการที่อยู่ตรงหน้า ใน 3-5 ปีนี้จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดให้บริการอีก 3-4 โครงการ ค่าโดยสารอาจสูงถึง 200-300 บาท

อีก 3 ปี คนใช้รถไฟฟ้า 3 ต่อ

ปัจจุบันประชาชนนิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เพราะทำเวลาได้ดี เฉลี่ยไปทำงานหรือเรียนหนังสือ 8-12 สถานี/วัน อนาคตจะมีอีกหลายสายเปิด พฤติกรรมคนจะใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในเขต กทม.และปริมณฑลอย่างน้อย 3 ต่อ เพราะเมืองขยายตามรถไฟฟ้า รัฐต้องเร่งวางแผนแก้ปัญหาโครงสร้างราคารถไฟฟ้าร่วม และตั้งหน่วยงานควบคุมโดยเฉพาะ มิเช่นนั้น “ค่าครองชีพ” จากการเดินทางจะเป็นภาระหนักของคนไทย