TDRI จี้รัฐแก้ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสารพัดสี ราคาแพง-นั่งหลายต่อ ทะลุ 100 บาท/เที่ยว

“ทีดีอาร์ไอ” กางข้อมูล “รถไฟฟ้าเมืองไทย” คาดเมื่อรถไฟฟ้าสารพัดสีทยอยเสร็จ ค่านั่งสูงทะลุ 100 บาท/เที่ยว นั่งสั้นแพงกว่าวิ่งยาว ทำนายพฤติกรรมคนเมือง-ชานเมืองอนาคตนิยมใช้รถไฟฟ้าหลายต่อ สะกิดรัฐบาลไม่รีบแก้วันนี้ วันหน้าลำบาก แนะ 3 มาตรการเร่งสางปัญหา

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ค่าโดยสารรถไฟฟ้าหลากสีกับราคาที่ประชาชนต้องแบกรับ”

สายสีเขียวแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา

โดยดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศอัตราค่าโดยสารสูงสุด 104 บาท และจะจัดเก็บในวันที่ 16 ก.พ. 2564 นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าประเทศไทยเท่านั้น

“และถ้าหากรัฐบาลไม่หาหนทางแก้ไขปัญหาอะไร อนาคตอันใกล้นี้จะเผชิญกับปัญหาค่ารถไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน เพราะจะมีรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ทยอยเปิดให้บริการ”

ปัจจุบัน รถไฟฟ้าสายหลักๆที่เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทาง สายสีน้ำเงินทั้งเส้นทาง, สายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ – เตาปูน ,แอร์พอร์ตลิ้งค์ช่วงพญาไท – สนามบินสุวรรณภูมิ และสายสีทองช่วงกรุงธนบุรี – คลองสาน

และในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีรถไฟฟ้าอีก 2 สายเปิดให้บริการ ได้แก่ สายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง ซึ่งทั้งสองสายมีกำหนดเปิดให้บริการปลายปี 2564 นี้

และรถไฟฟ้า 2 สายนี้จะเชื่อมต่อกับถนนที่มีปัญหาจราจรติดขัดเพิ่มเติมอีก 3 สาย คือ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา และถนนศรีนครินทร์ สิ่งที่น่าคิดคือ เมื่อมีรถไฟฟ้ามากขึ้นแล้วอัตราค่าโดยสารจะเป็นอย่างไร

วิ่งสั้นแพงกว่าวิ่งยาว

ดร.สุเมธกล่าวต่อไปว่า อัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน คิดแบบแยกกันตามแต่ละสัญญาสัมปทานแต่ละสายจะกำหนด โดยรถไฟฟ้าที่มีเส้นทางยาวค่าโดยสารเฉลี่ยจะมีราคาถูก

ส่วนรถไฟฟ้าที่มีระยะทางสั้นค่าโดยสารเฉลี่ยก็จะแพง เช่น สายสีทองมีระยะทางเพียง 1.8 กม. เก็บค่าโดยสารที่ 15 บาทตลอดสาย คิดเป็นราคาเฉลี่ย 8 บาท/กม. แพงกว่าหลายๆเส้นที่มีเส้นทางเฉลี่ย 25-35 กม. และรัฐบาลมีการกำหนดกรอบค่าโดยสารไว้ไม่เกิน 42 หรือ 45 บาท ซึ่งจะมีราคาเฉลี่ย 2 บาท/กม.

คนส่วนใหญ่ไม่เดินทางต้นถึงสุดสาย

“พฤติกรรมผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางจากต้นทางไปสิ้นสุดถึงปลายทาง ของรถไฟฟ้าแต่ละสายเสียทีเดียว ส่วนใหญ่จะแล้วแต่จุดหมายปลายทางที่ไป อาจจะอยู่รถไฟฟ้าเส้นทางเดียวก็ได้ หรือหลายเส้นทางก็ได้ แต่จะเป็นไปในลักษณะเชื่อมต่อกันมากขึ้น” ดร.สุเมธกล่าว

อนาคตคนนิยมนั่งหลายต่อ

ดร.สุเมธกล่าวว่า เมื่อโครงข่ายรถไฟฟ้าขยายออกสู่ชานเมืองมากขึ้น แนวโน้มที่คาดว่าจะได้เห็นคือ การนั่งรถไฟฟ้าหลายๆต่อมากขึ้น เช่น ผู้คนจากโซนมีนบุรี เดินทางเข้ามาที่ย่านพระราม 9 ต้องนั่งรถไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ต่อจึงจะมาถึง

เริ่มต้นจากสถานีมีนบุรีของสายสีชมพูต่อที่ 1 เดินทางมาเปลี่ยนเป็นสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นต่อที่ 2 และมาเปลี่ยนขบวนอีกครั้งที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว เพื่อโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจึงจะต้องไปถึงย่านพระราม 9 คำนวณคร่าวๆแล้วต้องเสียค่าโดยสารรวมๆ 109 บาท หรือตกวันละ 218 บาท/วัน มีราคาแพงกว่าระบบอื่น เช่น รถตู้ที่มีราคาเพียง 40-50 บาทเท่านั้น เป็นต้น

“ดังนั้น ปัญหาของรถไฟฟ้าสำคัญอยู่ที่สัญญาสัมปทาน ซึ่งมีมากกว่า 10 สัญญา และแต่ละสัญญามีการแยกเป็นอีกหลายๆสัญญา เช่น สายสีเขียว 3 สัญญา, สายสีน้ำเงิน 2 สัญญา เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นว่าแต่ละเส้นทางมีเงื่อนไขการจัดเก็บค่าโดยสารต่างกัน และแต่ละสัญญาก็ทำต่างกรรมต่างวาระกัน”

เสนอ 3 มาตรการแก้รถไฟฟ้าแพง

ทางออกของเรื่องนี้คือ 1.ต้องนำสัญญารถไฟฟ้าทุกสัญญาและทุกโครงการมาพิจารณาร่วมกันใหม่ แล้วกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดของแต่ละสายทางแทน ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆด้วย

2. ต้องแยกตัวค่าโดยสารออกจากสัญญาสัมปทาน เพื่อไม่ให้กลายเป็นเงื่อนไขที่มัดแน่นจนอาจจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้เลย และให้เอกชนที่เข้ามาลงทุนหาแนวทางในการเฉลี่ยรายได้จากการประมูลในช่องทางอื่นแทนการเก็บค่าโดยสาร

เช่น นำรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือพื้นที่โฆษณามาอุ้มค่าโดยสาร หรือไม่รัฐควรนำแนวคิดภาษีลาภลอยของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนารถไฟฟ้า มาอุ้มค่าโดยสารไม่ให้มีราคาแพง

และ 3.ควรยกเว้นการเก็บค่าแรกเข้าหลายต่อ เพราะการโดยสารข้ามระบบในประเทศไทยต้องเสียค่าแรกเข้าหลายต่อมาก ตอนนี้มีเพียงสายสีน้ำเงินและม่วงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่วประเทศไทย (รฟม.) เท่านั้นที่ไม่มีการเก็บค่าแรกซ้ำซ้อนกัน

ข้อเสนอทั้งหมด หากรัฐบาลไม่เริ่มติดตั้งแต่วันนี้ ค่าโดยสารที่มีราคาแตะหลัก100บาทต่อเที่ยวในหลายๆสายทาง จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตแน่นอน