ประยุทธ์ เคาะโปรเจ็กต์ “สายสีชมพูต่อขยาย-มอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว” 2.3 หมื่นล้าน

ประยุทธ์ เคาะ 2 โปรเจ็กต์คมนาคม 2.3 หมื่นล้าน “สายสีชมพูต่อขยาย-มอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว” ลุยตอกเข็มปีนี้

ครม.ประยุทธ์เคาะ 2 โปรเจ็กต์คมนาคม วงเงิน 2.3 หมื่นล้าน “รถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าเมืองทองฯ”รอแก้สัญญาหลัก 6 ประเด็น เคลียร์เวนคืน ขอใช้ที่หน่วยอื่น คาดเสร็จเปิดปี ‘67 ส่วน”มอเตอร์เวย์บ้านแพ้ว” ตอกเข็มปีนี้เปิดวิ่งตลอดสายต้นปี’68

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการของกระทรวงคมนาคม 2 โครงการ วงเงินรวม 23,930 ล้านบาท ประกอบด้วย

ไฟเขียวขยายสายสีชมพูเข้าเมืองทอง

1. อนุมัติการแก้สัญญาร่วมลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู กรณีส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช – เมืองทองธานี ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 4,230 ล้านบาทที่มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการแล้ว

โดยโครงการนี้เป็นข้อเสนอจากเอกชนคู่สัญญาคือ บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล หรือ NBM (กลุ่ม BSR นำโดย บมจ.บีทีเอส- บมจ.ซิโน-ไทยฯ และบมจ.ราชกรุ๊ป) ซึ่งจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างก่อสร้าง 37 เดือน จะเปิดให้บริการในเดือน ก.ย. 2567 มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.9% และมีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 7.1% คาดการณ์ผู้โดยสารเบื้องต้น 13,785 คน/เที่ยว/วัน

แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถ.แจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของสายสีชมพูสายหลัก วิ่งไปทางทิศตะวันตก และเลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซ.แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี มี 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 บริเวณอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี

“หลังแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้วเสร็จ รฟม.จะเวนคืน ขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมอบให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายตามแผนงานต่อไป “

เปิด 6 ประเด็นแก้สัญญาหลัก

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขสัญญาประกอบด้วย
1. ประเด็นเรื่องการปรับปรุงรูปแบบสถานีศรีรัช NBMยอมรับในการดำเนินการก่อสร้างสถานีศรีรัช รวมทั้งส่วนปรับปรุงและรับผิดชอบค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงงานทั้งหมด

2.ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่รฟม.ตามสัญญาร่วมลงทุน ทาง NBM ยังคงชำระค่าตอบแทนให้แก่รฟม. ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก และจะชำระผลตอบแทนเพิ่มเติมกรณีรวมโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยายให้แก่รฟม.โดยอ้างอิงปริมาณผู้โดยสารในสัญญาโครงการส่วนหลัก

3.ประเด็นอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสาร ทางNBM ยอมรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการส่วนต่อขยายให้สอดคล้องตามหลักการในสัญญาโครงการส่วนหลัก

4. ส่วนการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ทางNBM ยอมรับให้คงระยะเวลาดำเนินโครงการส่วนหลักในระยะที่ 1 และ 2 ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก ถึงแม้จะมีการก่อสร้างของโครงการส่วนต่อขยาย

5.ประเด็นเรื่อง การให้รฟม.มีส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการเชื่อมต่อกับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานี NBM จะดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากรฟม.ก่อน และสิทธิในรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์รวมถึงการเชื่อมต่อ เป็นไปตามสัญญาส่วนหลัก

และ6.ประเด็นผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย ทาง NBMจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งหมด ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย

ฉลุยมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว

และอีก 1 โครงการคือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. วงเงิน 19,700 ล้านบาท มีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นเจ้าของโครงการ ดำเนินการระหว่างปี 2564-2567 ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มากก่อสร้าง ส่วนระบบเก็บเงินเป็นรูปแบบบงทุน PPP และจะใช้เทคโนโลยีผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น (M-FLOW) ด้วย

รูปแบบก่อสร้าง เป็นทางยกระดับบนเกาะกลางถ.พระราม 2 ขนาด 6 ช่องจราจร (ไป 3 กลับ 3 ) มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 ด่าน ได้แก่ ด่านมหาชัย ด่านสมุทรสาคร1 ด่านสมุทรสาคร 2 และด่านบ้านแพ้ว

อัตราค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ มีค่าแรกเข้า10 บาท และค่าผ่านทางจะเพิ่มขึ้น 2 บาท/กม., รถ 6 ล้อ ค่าแรกเข้า 16 บาท ค่าผ่านทางเพิ้มขึ้น 3.2 บาท/กม. และรถมากกว่า 6 ล้อ ค่าแรกเข้า 23 บาท ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น 4.6 บาท/กม. มี EIRR อยู่ที่ 19.7% ส่วน 23,264 ล้านบาท และมีผลตอบแทนทางการเงินคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ที่ 23,364 ล้านบาท


โดยกรมทางหลวงมีแผนดำเนินงานก่อสร้างโครงการ ในช่วงปี 2564-2567 และงานติดตั้งระบบต่าง ๆ ในช่วงปี 2566-2567 โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2568 จะต่อเชื่อมกับทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ในปีแรกเปิดมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 50,000 คันต่อวัน