“ประยุทธ์-อนุพงษ์” โต้ปมต่อสัมปทาน BTS แก้หนี้-ล้างปัญหาโบราณ

“2 ป. ประยุทธ์-อนุพงษ์” แจงอภิปรายสัมปทานสายสีเขียว ชี้เจรจา BTSC ก่อน เพราะสัญญาระบุให้คุยกับรายเดิมก่อน ยันคำสั่งม.44ใช้แนวทางตามพ.ร.บ ร่วมทุนดำเนินการ”บิ๊กป๊อก”ชี้สางปัญหาช่วงเหนือ-ใต้ แซะรัฐบาลบางชุดไม่ยอมให้ กทม.ทำ ถามกลับรฟม.ทำจะบริหารอย่างไร

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ในการอภิปรายกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย 

ม.44 ใช้แนวพ.ร.บ.ร่วมทุน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า  การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 ก็เพื่อบริหารจัดการโครงการทั้ง 3 ช่วงให้เป็นเอกภาพ อำนวยความสะดวกสบายและกำหนดค่าโดยสารให้เหมาะสม เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งตอนนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ได้เลื่อนการเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ 15-104 บาทไปแล้ว

และการตั้งกรรมการก็ใช้แนวปฏิบัติเดียวกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562  กำหนดหลักเกณฑ์รวมโครงการ  เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง และมีค่าโดยสารเหมาะสมเป็นธรรม 

คุย BTSC เพราะสัมปทานกำหนดไว้

อนึ่ง คำสั่งคสช.ไม่ได้บังคับให้ต่อสัมปทานให้บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นรายเดิม เพียงแต่ว่าในสัญญาสัมปทานที่จะหมดปี 2572 กำหนดให้สิทธิ์รายเดิมเจรจาก่อนเป็นรายแรก ถ้าไม่ทำโดนฟ้อง ส่วนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยังไม่เอาเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม. )

“บิ๊กป๊อก” ชี้ ม.44 สางปัญหาโบราณ

ด้านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า การดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสข.ที่ 3/2562 เพื่อแก้ปัญหาของส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ เป็นหลัก และปัญหานี้สะสมมาแต่โบราณกาล

แซะรัฐบาลบางชุดไม่ให้ รฟม. ทำต่อ

แต่เดิม ทั้ง 2 ส่วนนี้กทม.มีดำริจะก่อสร้างเอง แต่มารัฐบาลยุคไหนไม่ทราบกลับให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งออกแบบอย่างพิเรนทร์ ให้ชานชาลาอยู่คนละส่วนกัน จนรัฐบาลยุคหลังต้องมาตามแก้ ซึ่งเรื่องนี้ตนมีแบบก่อสร้างอยู่ในมือ ยืนยันได้ ซึ่งส่วนต่อขยายคนทำต้องเป็นกทม. 

“การที่ รฟม.สร้างส่วนต่อขยายดังกล่าวอยู่นอกเมือง ผมถามว่า ท่านจะเดินรถอย่างไร จะหารถมาวิ่งจากไหน และท่านคิดว่า รฟม.จะบริหารแล้วมีกำไรหรือไม่มีทางได้กำไรแน่นอน  ส่วนต่อขยายที่ 2 ขาดทุน แล้ว รฟม.จะจ้างใครเดิน ก็ต้องจ้าง BTSC แน่นอน ไม่งั้นโดนฟ้อง ยังไม่นับอีกว่า ท่านจะทำอย่างไรกับปริมาณคนมหาศาลในเส้นทางสายหลักที่จะมาเชื่อมต่อ และถ้าปล่อยสัมปทานหมดปี 2572  เกิดฟันหลอข้างนอกเป็นของ รฟม. หรือไม่? นี่จึงเป็นสาเหตุที่ครม.จึงเอาให้กทม.ทำ” พลเอกอนุพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ ส่วนต่อขยาย 1 ช่วงตากสิน – วงเวียนใหญ่  ที่กทม.ก่อสร้างเอง เหตุที่ต้องจ้าง BTSC เดินรถ เพราะ กทม.ไม่มีรถไว้เดินรถเอง ซึ่งทราบว่าเคยพยายามขอสัมปทานแล้วครั้งหนึ่ง แต่บางรัฐบาลก็ไม่ให้ กทม.จึงต้องจ้างเดินรถ 

กู้คลังเป็นภาระงบฯกทม.

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ว่า ทำไม กทม. ไม่กู้เงินกระทรวงการคลัง เพื่อเอามาจ่ายหนี้ ต้องเรียนว่า กทม. เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีสภากทม.เป็นผู้กลั่นกรองการดำเนินงานในด้านต่างๆ การที่ กทม.จะไปกู้กระทรวงการคลัง สภากทม.มองแล้วว่า รับหนี้ไม่ไหว มีงานอื่นต้องทำ ดังนั้น การต่อสัมปทานกับ BTSC จึงเป็นทางที่ดีที่สุด และ กทม.ได้จัด Market Sounding เอกชนแล้ว พบว่าไม่มีใครสนใจมาลงทุนด้วย

ส่วนค่าโดยสาร ยืนยันค่าโดยสารที่อยู่ระหว่าง 15-65 บาทถูกที่สุดแล้ว เมื่อเทียบสายอื่นๆ เพราะระยะทางของสายสีเขียวยาวกว่า และการลงทุนงานโครงสร้างก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุนเหมือนรถไฟฟ้าบางสาย เช่น สายสีน้ำเงิน