“จิรายุ” เพื่อไทย อภิปรายเบื้องหลังประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

“จิรายุ เพื่อไทย” ซักฟอก “ศักดิ์สยาม” ปมสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เมื่อเวลา วันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา เกียกกาย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า กรณีการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นการเห็นประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง และเป็นการแหกตาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้วย

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ใต้การกำกับของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม โครงการแบ่งเนื้องานได้ 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือฝั่งตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปแล้ว และฝั่งตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์ วงเงินโครงการ 128,128 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่มีปัญหา และกำลังเป็นประเด็นในเรื่องการหาตัวเอกชนร่วมลงทุน (PPP)

เพราะก่อนหน้านี้ไล่ตั้งแต่สมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มาจนถึงการอนุมัติโครงการในยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนแล้วแต่เห็นชอบการใช้หลักเกณฑ์เดิมคือ เอาการเสนอผลตอบแทนแก่รัฐในซองที่ 3 เป็นสำคัญ

แต่แล้ว พบว่ามีการจะผลักดันการใข้เกณฑ์ประมูลใหม่คือ นำคะแนนด้านเทคนิคมาร่วมพิจารณากับการเสนอผลตอบแทนให้รัฐในอัตรา 30%  กับ 70% ตามลำดับ โดยการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 (บอร์ดม.36) จำนวน 8 รายมีสัดส่วนของหน่วยงานข้างนอกที่เชื่อถือได้เพียง 2-3 ราย คือหน่วยงานของสำนักงบประมาณและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด นอกนั้นเป็นกรรมการในสัดส่วนของกระทรวงคมนาคมแทบทั้งสิ้น

โดยเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 บอร์ดชุดนี้ได้ร่างมีโออาร์โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาเดิมคือ ใช้ซองที่ 3 การเสนอผลตอบแทนให้รัฐเป็นหลัก และได้ดำเนินการขายซอง จนกระทั่งปิดขายซองมีผู้มาซื้อซองจำนวน 10 ราย แต่ต่อมาปรากฎว่า มีการเรียกประชุมบอร์ดม.36 เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ

สำนักงบฯค้านแต่ไร้ผล

ในการประชุมดังกล่าวมีกุญแจหลัก 3 คน คือ1. นายภคพงศ์ ผู้ว่ารฟม. 2. นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และ 3. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษา BMTO โดยในการประชุมนางสาวกนกรัตน์ได้ทักท้วงถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่า ไม่ควรทำ หากจะเน้นเนื้องานด้านเทคนิค ก็ให้เพิ่มคะแนนพิจารณาด้านเทคนิคจะดีกว่า หรือไม่ก็ควรกำหนดหลักเกณฑ์นี้ตั้งแต่ต้นไปเลย และโครงการที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนกว่า อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังใช้หลักเกณฑ์การเสนอผลตอบแทนให้รัฐอย่างเดียว

แต่มีการยืนยันว่าในข้อ 12 ของทีโออาร์ กำหนดสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโครงการไว้แล้ว และการเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณามีความจำเป็น เพราะต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา และอ้างว่าการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ จะทำให้รถไฟฟ้าอยู่นานคงทนถึง 30 ปี ถ้าหากอยู่ได้ถึง 30 ปี ทำไมผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่มีมากว่า 10 ปี ถึงไม่เอะใจเลย

เมื่อมีการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( BTSC) ก็ยื่นฟ้องศาลปกครองจนมีคำสั่งทุเลาไม่ให้ใช้เกณฑ์ดังกล่าว เมื่อยื้อกันนานเข้า รฟม.รอไม่ได้สั้งล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 ในที่สุด โดยไม่ฟังคำพิพากษาของศาลก่อน