ร.ฟ.ท. เปิดหวูดสายสีแดง 28 ก.ค. “ตลิ่งชัน-รังสิต” ค่าโดยสาร 14-42 บาท

ร.ฟ.ท.ชงบอร์ด 22 ก.พ. เคาะแผนเดินรถเข้าหัวลำโพง รับรถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-รังสิต” เปิดหวูด 28 ก.ค. 64 ยึดโมเดล ทอท.บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ โฆษณา แจกสัมปทาน 20 ปี ใช้โมเดลสุวรรณภูมิ ดึงเอกชนพัฒนา ปลุกสถานีกลางบางซื่อฮับใหญ่สุดอาเซียนให้คึก

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. วันที่ 22 ก.พ. 2564 จะรายงานความคืบหน้าการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 41 กม. กำหนดจะเปิดรอบปฐมฤกษ์ วันที่ 26 มี.ค. 2564 ให้ประชาชนร่วมใช้บริการเป็นบางสถานีเป็นรอบ จากนั้นจะทดสอบเดินรถเสมือนจริง (trail run) และเปิดทดลองใช้ฟรี วันที่ 28 ก.ค.ถึงปลายเดือน พ.ย. จะเปิดเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเก็บค่าโดยสาร 14-42 บาท

“อัตราค่าโดยสารยังไม่กำหนดจะเก็บค่าโดยสาร 14-42 บาท ตามที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายหรือไม่ อยู่ระหว่างพิจารณา แต่ไม่น่าจะเกินจากนี้ จะเสนอบอร์ดอนุมัติในครั้งต่อไป”

ทำแผนเดินรถใหม่

อีกทั้งรายงานความคืบหน้าปรับแผนเดินรถใหม่ให้สอดคล้องกับการเปิดใช้สายสีแดง จะปรับให้รถไฟเชิงพาณิชย์ทุกขบวนมาลงที่สถานีกลางบางซื่อ เริ่มเดือน พ.ย. 2564 ส่วนรถไฟชานเมืองที่เดินทางเข้าสถานีหัวลำโพง และกรุงเทพฯชั้นใน จะคงให้วิ่งเข้าไปก่อนในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น ปัจจุบันมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการที่หัวลำโพง 5,000-6,000 คน/วัน ลดลงจากเดิมอยู่ที่ 10,000 คน/วัน เพราะสถานการณ์โควิด-19 คนเดินทางน้อยลง

“แผนการเดินรถไฟทางไกลในสายเหนือ-อีสาน ตามแผนจะเหลือรถวิ่งเข้าหัวลำโพง 14 ขบวน/วัน สายใต้เหลือ 2 ขบวน/วัน สำหรับเวลาให้บริการเร่งด่วนเช้า-เย็นยังไม่มีข้อสรุป”

ส่วนสายตะวันออกยังไม่สามารถปรับลดได้ จะมีขบวนรถเข้ามาที่หัวลำโพง 26 ขบวน/วัน กำลังวางแผนร่วมกันจะใช้ทางเลือกเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารเข้าหัวลำโพง 3 รูปแบบ 1.ให้ขบวนรถหยุดที่สถานีหัวหมาก

2.หยุดที่สถานีมักกะสัน แล้วต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสถานีเพชรบุรีเข้าหัวลำโพง

3.ปรับปรุงจุดจอดรถไฟบริเวณป้ายหยุดรถไฟอโศก ทำถนนเดินเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพชรบุรี แล้วขนถ่ายผู้โดยสารขึ้นรถไฟฟ้า จะสรุปแนวทางที่เหมาะสมใน 1 เดือน

ดึงเอกชนเช่าพื้นที่สถานี-โฆษณา

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้จะรายงานแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และสถานีในเส้นทางสายสีแดง 13 สถานี ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานี รับเปิดสายสีแดงเดือน พ.ย.นี้ แยกเป็น 2 ส่วน 1.ส่วนเป็นรายจ่าย ร.ฟ.ท.จะจ้างเอกชนมาดำเนินการ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) พนักงานรักษาความสะอาด และที่จอดรถ ระยะเวลาสัญญา 1-3 ปี โดยสถานีย่อยจะจ้างปีต่อปี ส่วนสถานีกลางบางซื่อจ้าง 3 ปี

2.ส่วนเป็นรายได้ มีพื้นที่เชิงพาณิชย์กับพื้นที่โฆษณา หากเป็น 12 สถานีแนวเส้นทาง ร.ฟ.ท.จะดำเนินการเองโดยจัดหาเอกชนมาบริหารเป็นระยะสั้น ๆ ช่วงรอเปิด PPP เดินรถสายสีแดงทั้งโครงการ เนื่องจากพื้นที่แต่ละสถานีมีไม่มาก

ส่วนสถานีกลางบางซื่อจะใช้โมเดลของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ที่ศึกษาให้มาดำเนินการ จะเปิดให้เอกชนบริหารทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีและพื้นที่โฆษณา โดยแยกสัญญาประมูลและให้เอกชนรายเดียวบริหารจัดการ และตัดแบ่งพื้นที่ให้รายย่อยเช่าต่อ เช่น ธุรกิจรีเทล ร้านอาหาร เป็นต้น เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ รูปแบบจะเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่กลุ่มเซ็นทรัลฯ เดอะมอลล์ และคิง เพาเวอร์ ได้สัมปทานบริหาร

“สถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ 40,000 ตร.ม. ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง การให้เอกชนมาบริหารต้องเป็นระยะยาว 20 ปี เพื่อให้คุ้มการลงทุน คาดว่าจะเปิดประมูลเดือน ส.ค.นี้ และได้เอกชนในเดือน ก.ย. เพื่อให้เอกชนที่ได้สัมปทานมีเวลาเตรียมการวางรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่อย่างน้อย 6-9 เดือน จะเปิดเต็มรูปแบบได้หลังเปิดสายสีแดงปลายเดือน พ.ย.นี้ไปแล้ว ต้องรอประเมินผู้โดยสารด้วยว่าจะมาใช้กี่คนในแต่ละวันจากที่ประมาณการไว้ 80,000 เที่ยวคนต่อวัน”

รีดรายได้อุดรายจ่าย

ผลศึกษาที่ ทอท.ทำไว้เบื้องต้น คาดว่าจะมีรายได้จากพื่นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ 30% และเพิ่มเป็น 60% ในปี 2570 ประมาณรายได้เฉลี่ย 10 ปี ในส่วนของค่าเช่าเชิงพาณิชย์ 221-238 ล้านบาท/ปี ธุรกิจโฆษณา 233-244 ล้านบาท/ปี ที่จอดรถ 84-89 ล้านบาท/ปี

โดยรายได้จะนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายในตัวสถานี ที่ 40 ล้านต่อเดือน หรือ 200-300 ล้านบาทต่อปี โดยช่วงต้นรายได้จะเพียงพอต่อรายจ่าย และมีกำไรในปีท้าย ๆ 200-300 ล้านบาท/ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้สายสีแดง และรถไฟทางไกล ที่กำลังทำแผนการเดินรถเข้าสถานีกลางบางซื่อ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ช่วงที่ ร.ฟ.ท.จัดทำการทดสอบความสนใจภาคเอกชนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ เอกชนหลายรายสนใจ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา เดอะมอลล์กรุ๊ป กลุ่มซีพี ออลล์ รวมทั้ง บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก

ต่อสัญญาโรงแรมโซลทวิน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้เสนอให้บอร์ดอนุมัติต่อสัญญาเช่าที่ดินและทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท. บริเวณถนนรองเมือง 6.53 ไร่ ให้กับบริษัท โกลเด้นแอสเซ็ท จำกัด เจ้าของโรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ ซึ่งสัญญาจะหมดปี 2564 จะต่อให้อีก 30 ปี โดยเอกชนต้องลงทุนเพิ่ม 400 ล้านบาท รีโนเวตโรงแรมใหม่