ผุดโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสริมน้ำ 3 แสนล้าน รับ “ทางด่วนใหม่” เข้าท่าเรือคลองเตยแก้รถติด

กทพ.เจรจาการท่าเรือสร้างทางด่วนจากบางนา-อาจณรงค์เข้าท่าเรือคลองเตย ระยะทาง 2.25 กม. มูลค่า 2,480 ล้าน แก้รถติดเชื่อมโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส 400 ไร่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ปั้นแลนด์มาร์กใหม่ดึงเอกชนลงทุน PPP ระยะเวลา 30 ปี กว่า 3 แสนล้านผุดโมโนเรลรับ รอบอร์ดเคาะพิมพ์เขียว ผังเมืองปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินกว่า 2 พันไร่ให้ใหม่เป็นสีแดงเปิดทางขึ้นโครงการขนาดใหญ่

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงทุนก่อสร้างโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กม. วงเงิน 2,480 ล้านบาท

เร่งถกท่าเรือลงทุนสร้างทางด่วน

“จะคุยว่าจะร่วมกันลงทุนรูปแบบไหน ซึ่ง กทพ.คงไม่ลงทุนคนเดียว เนื่องจากโครงการนี้ช่วยเรื่องปัญหาการจราจรติดขัดที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นหลัก เพราะเป็นทางด่วนฉพาะกิจตัดเข้าพื้นที่ของท่าเรือเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเข้าออก เพราะบนถนนอาจณรงค์บริเวณทางเข้าถนนโครงข่ายโดยรอบท่าเรือกรุงเทพจราจรติดขัดมาก”

รูปแบบก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณทางเข้าท่าเรือกรุงเทพที่จะพัฒนาเป็น terminal 3 รถบรรทุกเข้า-ออก terminal 3 ผ่านวงเวียนแล้วขึ้นใช้ทางพิเศษ สำหรับ terminal 1 และ 2 รถบรรทุกเข้า-ออก terminal 1 และ 2 จะผ่านวงเวียนของ terminal 1 และ 2 ขึ้นใช้ทางด่วน

โดยแนวทางด่วนจะอยู่ในระดับ 2 ของถนนอาจณรงค์ข้ามคลองพระโขนง ผ่านด้านหน้าอาคารสำนักงาน ปตท. จากนั้นแนวสายทางด่วนจะไปตามแนวทางรถไฟข้ามถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ และแยกเป็นขา ramp เข้าเชื่อมต่อกับทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) และทางด่วนฉลองรัช จะมีทางขึ้นสำหรับรถบรรทุกจาก terminal 1 และ 2 เข้าใช้ทางด่วนได้

“ปัจจุบัน กทพ.ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเสร็จแล้ว กำลังจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด” นายสุรเชษฐ์กล่าวและว่า

คาดเปิดใช้ปี’68

ทั้งนี้ โครงการนี้พบว่าผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 22% คาดว่าปีแรกของการเปิดให้บริการในปี 2568 จะมีปริมาณการจราจรใช้งานประมาณ 14,400 คันต่อวัน เป็นรถใหม่ที่ไม่เคยใช้ระบบทางด่วนประมาณ 6,000 กว่าคัน เป็นรถบรรทุกขนส่งสินค้าเป็นหลัก

นอกจากนี้ ทางด่วนสายนี้ยังรองรับโครงการในอนาคตจะพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเป็น “สมาร์ทพอร์ต” ให้มีความทันสมัย ปัจจุบันได้ศึกษาวางผังแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและขนส่งสินค้าทางน้ำ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ มีการปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพทางด้านตะวันตกให้เป็นท่าเรืออัตโนมัติ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภายในพื้นที่ท่าเรือ และมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการพัฒนาทางเชื่อมต่อกับทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ด้วย

ดึงเอกชนผุดโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส

นายกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับรายละเอียดโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตย ลดขนาดพื้นที่จากปัจจุบัน 943 ไร่ เหลือ 534 ไร่ และนำพื้นที่ 400 ไร่ที่เหลือพัฒนาเชิงพาณิชย์ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้ชื่อโครงการ “สยามเกต” ซึ่งเคยจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณา แต่บอร์ดให้นำกลับมาปรับใหม่ก่อนขออนุมัติโครงการต่อไป คงไม่ทันวันที่ 25 ก.พ.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรูปแบบการพัฒนาจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ระยะเวลา 30-35 ปี พัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์กลางทางการแพทย์ โรงแรม สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ มีทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีรถไฟฟ้าเชื่อมการเดินทางกับ MRT มีทางด่วนเชื่อมจาก S1 เป็นต้น จากการศึกษาใช้เงินลงทุนกว่า 3.3 แสนล้านบาท จะใช้เวลาดำเนินการ 10 ปี

แบ่งพัฒนา 2 เฟส ระยะ 5 ปีแรก ลงทุนประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม ท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ศูนย์กลางการแพทย์ ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีที่ 6-10 ลงทุนประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม สปอร์ตคอมเพล็กซ์ เป็นต้น โดย กทท.คาดว่าจะมีรายได้ให้เอกชนเข้ามาจัดทำประโยชน์ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมค่าเช่าที่จะได้ตลอดอายุสัญญา

รื้อสีผังเมืองเป็นสีแดง


แหล่งข่าวจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ผังเมืองรวม กทม.ฉบับปรับปรุงใหม่รอประกาศใช้ปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า จะปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริเวณย่านคลองเตย จากสีน้ำเงินกำหนดเป็นที่ดินประเภทราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เป็นพื้นที่สีแดงพาณิชยกรรมตามที่การท่าเรือขอให้ปรับปรุง เพื่อจะนำที่ดินบริเวณดังกล่าวจำนวนกว่า 2,353 ไร่พัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ จะทำให้ในอนาคตย่านคลองเตยจะเป็นย่านพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯที่รองรับการขยายตัวมาจากใจกลางเมือง