รถไฟฟ้าสายสีชมพูชุบชีวิตเมืองทอง อัพที่ดิน “กาญจนพาสน์” หมื่นล้าน

พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข
พิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี

“บีทีเอส-ซิโนไทยฯ” ปิดดีล 4,230 ล้าน สร้างรถไฟฟ้าสีชมพู “บีแลนด์” ลงขัน 1,550 ล้าน เร่งสร้างเมืองครบวงจร ดึงคนเข้าเมืองทองธานี ปลุกผีที่ดินเก่า-ปัดฝุ่นโปรเจ็กต์ยักษ์ติดทะเลสาบ 400 ไร่ หวังดันราคาที่ดินพุ่งตารางวาละ 1 แสนบาท ไทม์ไลน์ก่อสร้างตอกเข็มปีนี้ คาดเสร็จปี’66 เปิดพร้อม “แคราย-มีนบุรี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเซ็นสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา จัดหาระบบ การเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. 2 สถานี

ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล (NBM) นิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในสัดส่วน 75% บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 15% และ บมจ.ราชกรุ๊ป 10% ผู้รับสัมปทานสายสีชมพูส่วนหลักแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. จำนวน 30 สถานี

“กาญจนพาสน์” ทุ่มหนัก

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส่วนต่อขยายสายสีชมพูเป็นข้อเสนอที่บริษัทลงทุนเพิ่มเติมจากสัมปทานหลัก ใช้เงินลงทุน 4,230 ล้านบาท ซึ่งบีทีเอสและพันธมิตรร่วมกันลงทุนตามสัดส่วน โดยมี บมจ.บางกอกแลนด์ (BLAND) ช่วยสนับสนุนค่าก่อสร้าง 1,250 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุงรักษาโครงการอีกปีละ 10 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี หรือ 300 ล้านบาท

“เพื่อให้สายสีชมพูที่ได้สัมปทานสมบูรณ์มากขึ้น จึงลงทุนสร้างส่วนต่อขยายเข้าไปในเมืองทองฯ เราลงทุนเองทั้งค่าที่ดิน ก่อสร้าง และแบ่งรายได้ให้ รฟม. กว่าจะเจรจาได้ข้อยุติจนเซ็นสัญญาใช้เวลาถึง 2 ปี”

นายคีรีกล่าวอีกว่า ในส่วนของบีแลนด์มีโครงการนี้อยู่ในแผนเดิมอยู่แล้ว เพื่อรองรับคนที่อาศัยในเมืองทองฯร่วม 2 แสนคน และคนมาดูงานแสดงสินค้าและศูนย์ประชุมที่อิมแพ็ค คนมาติดต่อราชการต่าง ๆ อีกอย่างน้อย 15 ล้านคน ดังนั้น การสร้างอินฟราสตรักเจอร์เข้าไป ทำให้คนเดินทางสะดวก ลดปัญหาการจราจรข้างในและโดยรอบได้เป็นอย่างดี

บีแลนด์ตุนเงินสด

แหล่งข่าวจาก บมจ.บางกอกแลนด์กล่าวว่า บริษัทจะร่วมลงทุนสายสีชมพูส่วนต่อขยายกับบีทีเอสไม่เกิน 1,250 ล้านบาท ตามที่ได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOU) ไว้ ซึ่งบริษัทมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 5,000 ล้านบาท พร้อมลงทุน โดยจะแบ่งจ่ายประมาณ 2 ปีครึ่ง

“ที่ดินเมืองทองธานี 4,000 ไร่ พัฒนาไปเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ 600 ไร่ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เพราะเป็นอสังหาฯเพื่อการลงทุน มีทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า และที่ดินเปล่า ทะเลสาบอีก 380 ไร่ ที่เตรียมจะนำมาพัฒนารับรถไฟฟ้าและจะสร้างสถานีที่ทะเลสาบด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดได้รีวิวการลงทุนใหม่ โดยจะร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจแต่ละส่วน จากเดิมก่อนโควิดมีแนวคิดจะลงทุนธุรกิจรีเทล ช็อปปิ้งมอลล์ อาคารสำนักงาน รวมถึงธุรกิจสวนน้ำขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท

ปัดฝุ่นแลนด์แบงก์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บางกอกแลนด์ ได้แจ้งที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 48 ว่า มีโครงการเดียวที่ยังต้องดำเนินการต่อ คือ โครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะเข้าเมืองทองธานี โดยร่วมทุนกับบีทีเอส กรุ๊ป โดยจะใช้เงินลงทุนสำหรับก่อสร้าง 1,250 ล้านบาท มีงบประมาณรองรับอยู่แล้ว

หากมีรถไฟฟ้าเข้ามาจะเกิดผลดีสำหรับหลาย ๆ โครงการ รวมถึงราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีที่ดินรอบทะเลสาบกับที่ดินอื่น ๆ ในเมืองทองธานี 600 ไร่ โดยราคาที่บันทึกไว้ในงบการเงิน 80,000-100,000 บาท/ตร.ว. แต่เมื่อรถไฟฟ้าเข้ามา ราคาที่ดินจะขยับขึ้นอีกแน่นอน

ในส่วนของอิมแพ็คมีแผนทำทางเชื่อมรถไฟฟ้าเพื่อสร้างความสะดวกให้ลูกค้าที่มาดูคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า จะทำให้บริษัทมีงานมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มจากค่าเช่าพื้นที่และร้านค้าที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่โควิด-19 ด้วยจะคลี่คลายเมื่อไหร่

นอกจากนี้จะมีคนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น เช่น ตำรวจมาเปิดหน่วยงานที่นี่ มีการสร้างบ้านพักตำรวจ และอื่น ๆ โดยบริษัทมีแผนจะสร้างสะพานลอยที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเพื่อเข้าคอสโม บาซาร์ และเชื่อมกับออฟฟิศต่าง ๆ ที่บริษัทให้เช่าอยู่ ทำให้คนเดินทางมาใช้จ่าย ทำงาน พักอาศัยที่เมืองทองธานีง่ายขึ้น

อนึ่ง นายพอลล์ เป็นทายาทของนายอนันต์ กาญจนพาสน์ ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคชราไปก่อนหน้านี้ และนายอนันต์ เป็นพี่ชายแท้ ๆ ของนายคีรี กาญจนพาสน์ ผู้บุกเบิกธุรกิจรถไฟฟ้าสายแรกในประเทศไทย ทั้งเป็นเอกชนรายเดียวที่รับสัมปทานสายสีเขียว จากกรุงเทพมหานคร (กทม.)

แสนสิริ-LPN รอพัฒนา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ยังมี บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ซื้อที่ดิน 26 ไร่ ในเมืองทองธานี ใกล้กับอาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ และสถานีสายสีชมพูส่วนต่อขยาย วงเงิน 952 ล้านบาท พัฒนาบ้านเดี่ยว “โครงการบ้าน 365” จำนวน 182 ยูนิต มูลค่า 1,890 ล้านบาท ราคาขายเริ่มต้น 9-20 ล้านบาทต่อยูนิต

และปลายปี 2560 บมจ.แสนสิริร่วมกับ BTS ซื้อที่ดินตลาดนัดมะลิ ในเมืองทองธานี และที่ดินข้างเคียง เนื้อที่ประมาณ 20-30 ไร่ ติดกับสนามฟุตบอลของสยามสปอร์ต เป็นแลนด์แบงก์เก็บไว้รอพัฒนาโครงการร่วมกันรับสายสีชมพูส่วนต่อขยาย มีแผนจะขึ้นโครงการมิกซ์ยูส

สร้างปีนี้ได้นั่ง ก.ย.ปี’67

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.อนุมัติให้เอกชนลงทุนสายสีชมพูส่วนต่อขยาย จากการศึกษาโครงการพบว่า เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สามารถเชื่อมต่อกับสายสีชมพูสายหลักจะเปิดในปี 2565 ช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง มีเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท

โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าเวนคืนที่ดินและภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม

แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสายสีชมพูสายหลักที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางด่วนอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. มี 2 สถานี คือ 1.สถานีอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ตั้งอยู่วงเวียนเมืองทองธานี มีทางเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ใกล้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วัดผาสุกมณีจักร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

และ 2.สถานีทะเลสาบ ตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบ ใกล้กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเอสซีจี สเตเดี้ยม รูปแบบก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับ ใช้ระยะเวลาสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้เดือน ก.ย. 2567 มีปริมาณผู้โดยสาร 13,785 คน/เที่ยว/วัน ค่าโดยสารจะคิดอัตราเดียวกับส่วนหลักคือ เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการ บจ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล กล่าวว่า ในการลงทุนส่วนต่อขยายทางบีแลนด์จะร่วมลงทุน 1,250 ล้านบาทที่เหลือ NBM จะออกทั้งหมด จะเริ่มก่อสร้างได้ ก.ค.-ส.ค. 2564 จะพยายามก่อสร้างให้เสร็จพร้อมช่วงแคราย-มีนบุรี ภายในปี 2566

นายคีรียังกล่าวถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่ รฟม.ล้มประมูลไปแล้วว่า ยังไม่รู้จะประมูลใหม่ได้หรือไม่ แต่อยากให้รัฐกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลกันอย่างแฟร์ ๆ ทำตามระเบียบและข้อกฎหมาย ให้เหมือนการประมูลโครงการต่าง ๆ ที่เคยเปิดประมูลกันมา สู้กันด้วยมูลค่า การตอบแทนที่จะให้กับประเทศชาติ