บอร์ดสั่ง รฟม. สางปมสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ยึดกฎหมายเคร่งครัด

บอร์ด รฟม. เกาะติดความคืบหน้าสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ”รัชดา-รัชโยธิน” สั่งศึกษาผลกระทบผู้โดยสารสายสีน้ำเงินอีกครั้ง 

นายภคพงศ์​ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2564 ในการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟม.ได้รายงานความคืบหน้าผลการเจรจากับบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด(EBM) ในเครือกลุ่มกิจการร่วมค้าBSR (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งยื่นข้อเสนอลงทุน 3,779 ล้านบาท สร้างส่วนต่อขยายจากแยกรัชดา-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.

เนื่องจากทางบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้ร้บสัมปทานสายสีน้ำเงินมีความกังวลจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารสถานีลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับสายสีเหลืองจะลดลง โดย BEM ขอให้ รฟม.เจรจาEBM เซ็นยอมรับเงื่อนไขการเจรจารับภาระค่าชดเชยรายได้ที่จะเกิดขึ้น หลังเปิดบริการไปแล้ว โดยBEM จะเป็นผู้รับภาระการพิสูจน์ตัวเลขที่จะเกิดขึ้น

“เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 ทางEBM ทำหนังสือยืนยันมายังรฟม.ไม่สามารถรับภาระชดเชยให้BEM ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ ซึ่งบอร์ดยังไม่มีมติ เพียงแต่รายงานความคืบหน้าให้ทราบ โดยให้รฟม.ทำการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องภาระค่าชดเชยเพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ก่อนหน้านี้รฟม.เคยศึกษาในปีแรกจะมีผู้โดยสารสายสีน้ำเงินหายไปประมาณ 9,000 คน และปีที่30 จะหายไปร่วม 3 หมื่นคน ยังมีเวลาเจรจาเพราะตามสัญญาจะต้องได้ข้อยุติก่อนเปิดการเดินรถส่วนหลักในเดือนก.ค.2565”

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า บอร์ดยังได้สอบถามถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี ซึ่งรฟม.ได้รายงานถึงกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ได้ยกเลิกการประกาศคัดเลือกเดิม และจะเริ่มดำเนินการคัดเลือกใหม่ตามขั้นตอนพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 โดยบอร์ดได้กำชับให้รฟม.ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกใหม่ ในวันที่ 1-15 มี.ค.นี้จะออกประกาศรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) และให้เวลาเอกชนเสนอความเห็น ประมาณ 3 วัน จากนั้นจะประมวลความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดร่างTOR เพื่อเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา36 พิจารณาอนุมัติ โดยคาดว่าคณะกรรมการมาตรา36 จะประชุมในช่วงปลายเดือนมี.ค.และประกาศขายเอกสารได้ช่วงเดือนเม.ย. นี้

โดยคาดว่าจะสรุปผลการประมูลและได้เอกชนในเดือนส.ค. 2564 และนำเสนอครม.อนุมัติต่อไป ทั้งนี้การจะเซ็นสัญญากับเอกชนได้นั้น จะต้องรอให้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม (EIA) ได้รับการอนุมัติก่อนด้วย ซึ่งขณะนี้รฟม.ได้เสนอรายงาน EIA ที่ปรับปรุงไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว โดยตั้งเป้าจะเริ่มงานก่อสร้างภายในปีนี้ พร้อมกับการเวนคืนที่ดินที่จะเดินหน้าคู่ขนานกันไป