“ซิโน-ไทย” งานทะลักแสนล้าน ผนึกพันธมิตรปักหมุดเมกะโปรเจ็กต์

สัมภาษณ์

นับจากปี 2562 สามารถเบียด “บมจ.ช.การช่าง” ขึ้นมารั้งเบอร์ 2 ของวงการรับเหมาก่อสร้าง ดูเหมือน “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ธุรกิจใต้ปีก “ตระกูลชาญวีรกูล” ตุนงานใหญ่ไว้ในมือหลายโปรเจ็กต์ จากการจับมือพันธมิตรหลากธุรกิจ

ไม่ว่า “บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ยักษ์รถไฟฟ้า “บมจ.ราชกรุ๊ป-บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” บิ๊กธุรกิจพลังงาน และ “บมจ.การบินกรุงเทพ” เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เข้าร่วมประมูล PPP เมกะโปรเจ็กต์ สยายปีกจากธุรกิจรับเหมา เป็นผู้ลงทุนทั้งรถไฟฟ้าหลากสี มอเตอร์เวย์ และเมืองการบินอู่ตะเภา

“ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ ที่กุมบังเหียน บมจ.ซิโน-ไทยฯ มายาวนานถึง 8 ปี เปิดเผยว่า ปัจจุบันถึงจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลประกอบการของบริษัทในปี 2563 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 36,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2,946.63 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.87% มาจากปริมาณงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรอยู่ที่ 1,339 ล้านบาท หรือ 3.7%

ถึงจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3,191 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.05% เป็นผลมาจากต้นทุนงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้ จากสัญญาก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายหลักคือ ต้นทุนงานก่อสร้าง 34,249 ล้านบาท จากโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ อาคารที่ทำการสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง ถึงแม้จะสร้างรายได้ให้ก็จริง แต่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะโควิดทำให้ไม่สามารถนำแรงงานเข้าไซต์ก่อสร้างได้เหมือนปกติ ต้องเพิ่มเวลาและค่าโอที

“ไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัท ในปีที่ผ่านมาถือว่ายังมีสภาพคล่องที่ดี โดยใช้เงินในการลงทุนแบบ PPP กับพันธมิตรกว่า 4,000 ล้านบาท ยังมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 6,000 ล้านบาท แสดงถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน ส่วนการกู้เงินยังไม่มี ถือว่าจบปี 2563 ได้ค่อนข้างดี”

สำหรับงานในมือ (backlog) ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 100,000 กว่าล้านบาท คาดว่าน่าจะรับรู้รายได้อีก 2-3 ปี เป็นงานเอกชน 70% งานภาครัฐ 30% ซึ่งสัดส่วนของงานแยกเป็น ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน 41% อาคาร 39% โรงไฟฟ้า 17% และโรงงานปิโตรเคมี 2% ซึ่งงานก่อสร้างอาคารที่เพิ่มขึ้นมาถึง 39% เพราะมองว่างานก่อสร้างในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นงานก่อสร้างอาคารแทบทั้งหมด

“ภาคภูมิ” ฉายภาพปี 2564 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยยังโงหัวไม่ขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ปัจจัยเสี่ยงของปีนี้คือ เมื่อรัฐบาลทุ่มสรรพกำลังไปที่การสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิดทำให้โครงการหลาย ๆ โครงการอาจจะต้องเลื่อนประมูล หรือเลื่อนการลงทุนออกไป แต่ซิโน-ไทยฯก็ต้องเติบโตทุกปี ปีนี้จึงตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 37,000 ล้านบาท ส่วนกำไรขั้นต้นจะพยายามดันให้ถึง 5% และกำไรสุทธิโตที่ 3-4%

เพื่อรักษาระดับแบ็กล็อกให้คงที่ 100,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้จะต้องหางานใหม่เพิ่ม 40,000 ล้านบาท ขณะนี้มีงานในมือแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ 1.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โซน C งานก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ วงเงินกว่า 6,200 ล้านบาท จะเริ่มงานได้ในเดือน มิ.ย. 2564

2.รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท 3.ขุดคลองของกรมชลประทาน วงเงิน 3,500 ล้านบาท จะเซ็นสัญญาภายในเดือน มี.ค. 2564 และ 4.ติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บริษัทร่วมกับบีทีเอส กัลฟ์ และราชกรุ๊ป ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ก่อสร้างโยธาทั้ง 2 ส่วน 4,000-5,000 ล้านบาท จะเซ็นสัญญาสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ภายไตรมาสที่ 2 ส่วนบางปะอิน-โคราช รองานก่อสร้างที่ล่าช้าอยู่ อาจจะเซ็นสัญญาไม่ทันปีนี้

ในปีนี้คาดว่ารัฐบาลจะมีโครงการเปิดประมูล 600,000-700,000 ล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดประมูลใหม่กลางปีนี้ ซึ่งในรอบแรกบริษัทร่วมกับบีทีเอส ในครั้งใหม่นี้คิดว่าจะเข้าประมูล ไม่ว่าจะเอาคะแนนเทคนิคร่วมประเมินหรือเอาเกณฑ์เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด เรามั่นใจว่าไม่มีปัญหา พร้อมเข้าประมูลจะร่วมกับบีทีเอสเหมือนเดิม แต่ถ้าบีทีเอสไม่ร่วม เราจะซับงานจากผู้ชนะได้ เพราะปัจจุบันเราก่อสร้างอุโมงค์สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีอยู่แล้ว

ยังมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รถไฟทางคู่ 2 สาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 3 สัญญา และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 2 สัญญา คาดว่าจะมีเซ็นสัญญาในปีนี้ ยังมีมอเตอร์เวย์เอกชัย-บ้านแพ้วของกรมทางหลวง และงานขยายศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง

“จากสถานการณ์น่าจะมีงานออกประมูลประมาณ 3-4 แสนล้านบาท จากสถิติที่ผ่านมา เราจะได้งานประมาณ 20-30% ของมูลค่างานที่ออกประมูล ดังนั้น ปีนี้คาดว่าจะได้งานใหม่อยู่ที่ 3-4 หมื่นล้าน”

“ภาคภูมิ” อัพเดตโครงการเมืองการบินอู่ตะเภาที่ร่วมกับบีทีเอส และบางกอกแอร์เวย์ส จัดตั้ง บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) รับสัมปทาน 50 ปี พัฒนาโครงการเนื้อที่ 6,500 ไร่ คาดว่ากองทัพเรือจะออกหนังสือส่งมอบงาน (NTP) ส่งมอบพื้นที่ได้ในกลางปี 2565 เพราะมีหลายเงื่อนไข ทั้งรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) การเปิดประมูลโครงการรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ยังไม่เปิดประมูล และการทำสัญญากับผู้ทำระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ

จะไม่รอ NTP จะลงทุน 1,800 ล้านบาท ออกแบบและทำสิ่งอำนวยความสะดวกไปก่อน ระหว่างรอการพัฒนาโครงการเฟสแรก ใช้เงินลงทุน 31,290 ล้านบาทสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พื้นที่ 157,000 ตารางเมตร จะมีระยะเวลาสร้างแค่ 3 ปี จากปกติการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในสนามบินใช้เวลา 5 ปีเป็นอย่างน้อย เมื่อ NTP ออกจะได้เริ่มงานก่อสร้างได้ทันที