“คีรี” เจ้าพ่อบีทีเอสทำหนังสือถึง “ประยุทธ์” ตรวจสอบ-ชะลอประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม

กดปุ่มประมูลสายสีส้ม-สีม่วงใต้2แสนล้าน

“คีรี กาญจนพาสน์” ทำหนังสือปิดผนึกถึง ”พลเอกประยุทธ์” ขอให้ตรวจสอบการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ”บางขุนนนท์-มีนบุรี” หลัง รฟม.เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นใหม่ ยึดเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอเทคนิค 30% ร่วมกับข้อเสนอการเงินและผลตอบแทน 70% ประเมินผู้ชนะ ไม่รอศาลปกครองกลางตัดสิน ไม่ผ่านขออนุมัติ ครม. และบอร์ด PPP ไม่คำนึงถึงหลักนิติรัฐและนิติธรรม จึงยื่นฟ้องผู้ว่า รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ขอนายกรัฐมนตรีสั่ง รฟม.หยุดการกระทำใด ๆ ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ทำหนังสือปิดผนึกด่วนที่สุด ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ตรวจสอบการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี)

ไล่เรียงที่มามูลเหตุ

โดยระบุว่า สืบเนื่องจากที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จนเป็นเหตุให้บริษัท BTSC มีหนังสือสอบถามและขอความเป็นธรรมถึงบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ จำนวน 5 ฉบับ

ปรากฎว่าบริษัทมิได้รับการชี้แจงในผลการตรวจสอบเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการดำเนินโครงการแต่อย่างใด จนกระทั้งวันที่ 17 ก.พ. 2563 บริษัทได้ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเป็นคดีปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 เพื่อให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติที่เห็นชอบเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกด้วย

ซึ่งศาลปกครองกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้คดีปกครองดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 โดยศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขวิธีการประเมินข้อเสนอน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งห้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม.ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มครั้งที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

โดยในวันที่ 4 พ.ย. 2563 รฟม.มีหนังสือที่ รฟม. 007(คกก)สม/ว32 ถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC โดยแจ้งว่า ”คดีปกครองดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา และยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 คือวันที่ 9 พ.ย. 2563 ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น. และมีกำหนดการเปิดซองข้อเสนอซองที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ย. 2563 ตามเดิม” ทำให้บริษัทร่วมกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในโครงการนามกิจการร่วมการค้าบีเอสอาร์ตามวันเวลาดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 3 ก.พ. 2564 รฟม.ได้ประกาศในเว็บไซต์ www.mrta.co.thว่า “เพื่อให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาครัฐ รฟม.จึงขอยกเลิกประกาศเชิญชวนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว”

และเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีหมายแจ้งว่า รฟม.ได้ขอถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาฯ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งอนุญาตห้ถอนอุทธรณ์ เท่ากับว่าคำสั่งทุเลาที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยไว้ รฟม.ไม่ขอโต้แย้ง

โดยขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองกลาง ซึ่งบริษัทเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว ของ รฟม.ไม่ถูกต้องทั้งข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากประเด็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกับบริษัท ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เป็นที่สุดเสียก่อน เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฎิบัติให้ถูกต้องต่อไป

ยื่นฟ้องผู้ว่า รฟม.+บอร์ดคัดเลือก

ดังนั้นในวันที่ 22 ก.พ. 2564 บริษัทจึงจำเป็นต้องยื่นฟ้อง ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564

ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าในวันที่ 1 มี.ค. 2564 ระหว่างรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่บริษัท ฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ว่าได้กระทำความผิด รฟม. โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่

โดยให้กรอกความเห็นในเอกสารตามแบบสอบถามและจัดส่งให้ รฟม. ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของรฟม. ตั้งแต่วันที่ 17-19 มี.ค. 2564 ซึ่งปรากฎว่าข้อมูลสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน มีสาระสำคัญของวิธีการประเมินข้อเสนอ กล่าวคือ

”การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม.จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผบตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงสุดที่สุดจะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด”

โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอในข้างต้น เป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่ให้ รฟม.นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน โดยศาลปกครองกลางชี้ว่า ”การเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอและการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่า ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสำหรับเอกชนเล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ โดยการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ก็ดี การยกเลิกประกาศเชิญชวน ยกเลิกการคัดเลือกเอกชน รวมถึงการเปิดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อจัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนใหม่ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มิอาจกระทำได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของโครงการและความล่าช้าที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากการกระทำของ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายกำหนด โดยมีมูลเหตุจูงใจที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนทั้ง ๆ ที่กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณในคณะกรรมการคัดเลือก ได้ทักท้วงแล้ว เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ ต้องเสนอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีก่อน แต่คณะกรรมการคัดเลือกกลับไม่รับฟัง และยิ่งปรากฎหลักฐานชัดขึ้นเมื่อ รฟม.ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกขึ้นใหม่ ที่ล้วนเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ประสงค์จะให้มีการเปลี่ยนแปลง

ผิดหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การกระทำที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกมีจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน ที่ผ่านความเห็นชอบมาโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกต้องการ โดยไม่คำนึงว่าหลักเกณฑ์เดิมเป็นสิ่งที่จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม ไม่เคารพต่อคำสั่งของศาลปกครองกลาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ รฟม.ได้เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนเพื่อนำไปจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อส่งให้คณะกรรกมารคัดเลือกให้ความเห็นชอบตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 มาตรา 39 โดยไม่เสนอปัญหาที่เกิดขึ้นต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายหมายก่อนว่ากระทำได้หรือไม่ ถูกต้อง กระทำได้หรือไม่ ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

บริษัทได้พยายามอย่างที่สุดตามกฎหมายและประกาศที่บัญญัติไว้ เพื่อระงับยังยั้งการกระทำที่ไม่ชอบของกลุ่มบุคคลดังกล่าว จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลอญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพียงเพื่อต้องการให้การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฎว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวยังไม่มีท่าทีที่จะสำนึกและแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งไม่ปรากฎว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับ ควบคุมดูแล การกระทำของ รฟม. และคณะกรรกมารคัดเลือก จะออกมาดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อยับยั้งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

อนึ่งการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้แก้ไขหลักเกณฑ์ประเมินหลังจากที่ออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นข้อเสนอโดยถูกต้องในทุกขั้นตอนแล้ว จึงมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการยกเลิกและเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินที่ยังมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำลายกระบวนการประกวดราคาครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่ใช้การประกวดราคาแบบ Interantional Bidding อีกทั้งการที่ รฟม.ใช้หลักเกณฑ์ประเมินข้อเสนอตามที่ปรากฎในข้อมูลสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของเอกชน มีการชี้นำในหัวข้อที่วิธีการประเมินข้อเสนอที่ระบุถึงการใช้คะแนนเทคนิคที่สอดรับกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยเป็นเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หากปล่อยให้หน่วยงานของรัฐมีการดำเนินการไม่ถูกต้องในลักษณะที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนผู้ลงทุนทั้งภายในประเทศ และโดยเฉพาะผู้ลงทุนจากต่างประเทศ จนอาจทำให้ประเทศชาติได้รับความเสื่อมเสียและขาดความน่าเชื่อถือ

บริษัทจึงกราบเรียนมายังท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ตรวจสอบการกระทำของผู้ว่าการรฟม. คณะกรรมการคัดเลือก และผู้เกี่ยวข้องตามข้อเท็จจริงที่นำเสนอข้างต้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากปรากฎผลทางการพิจารณาคดี ว่าการกระทำที่ผ่านมาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้อง ขอให้สั่งการไปยัง รฟม.ให้หยุดการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เป็นกรณีพิพาทนี้จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อไป