“อาคม”สั่งด่วนรีวิวเมกะโปรเจ็กต์ทั้งระบบ เร่งล้างท่อโครงการ 1.66 ล้านล้าน กดปุ่มปีหน้า

“อาคม” เร่งลงทุนเมกะโปรเจ็กต์โค้งสุดท้ายปี”60 สั่งรีวิว 56 โครงการยักษ์ กว่า 2 ล้านล้าน ปรับไทม์ไลน์ประมูล-ก่อสร้างใหม่ บรรจุเป็นแผนด่วนปี”61 ไฮสปีดเทรน รถไฟทางคู่ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสารพัดสี สนามบิน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ ยกขบวนกดปุ่มปีหน้าอื้อซ่ากว่า 1.66 ล้านล้าน กรมทางหลวงชงสร้างโทลล์เวย์รังสิต-บางปะอิน และทางยกระดับธนบุรี-ปากท่อ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2560 (พ.ย.-ธ.ค.) จะรีวิวผลการดำเนินงานโครงการลงทุนในแผนปฏิบัติการเร่งด่วน หรือ action plan ปี 2559-2560 จำนวน 56 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท เพื่อดูว่าแต่ละโครงการติดขัดและอยู่ในขั้นตอนไหน

เตรียมทำแผนลงทุนปี”61

จากนั้นจะรวบรวมบรรจุไว้เป็นแผนเร่งด่วนของปี 2561 จะแพ็กรวมกับโครงการใหม่ที่ให้แต่ละหน่วยงานเสนอโครงการ ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจกำชับให้กระทรวงเศรษฐกิจประเมินผลการดำเนินงานและเร่งจัดทำแผนลงทุนสำหรับปีต่อไป

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเร่งรัดแผนการลงทุนโครงการใหญ่ในแผนเร่งด่วนของปี 2559-2560 ยังเหลือโครงการอะไรที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จะนำมาใส่ไว้ในแผนเร่งด่วนของปี 2561 ซึ่งทุกโครงการจะอยู่แผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8 ปีอยู่แล้ว

“โครงการที่จะลงทุนในปี 2561 ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการส่วนต่อขยายจากปี 2559-2560 เช่น รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว สีน้ำเงิน รถไฟทางคู่เฟส 2 ถนนต่อเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี สำหรับโครงการของปี 2560 ผลการดำเนินงานยังอยู่ในแผน แต่มีบางโครงการที่ยังไม่สามารถเริ่มได้ เพราะยังต้องศึกษา และขออนุมัติโครงการ ภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้เห็นการเซ็นสัญญารถไฟทางคู่ 5 สาย วงเงินก่อสร้าง 69,531 ล้านบาท”

รอประมูลกว่า 1.66 ล้านล้าน

สำหรับโครงการเร่งด่วนปี 2559-2560 มีโครงการรอประมูลและขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมมูลค่ากว่า 1.766 ล้านล้านบาท โดยโครงการเร่งด่วนปี 2559 จำนวน 20 โครงการ เงินลงทุนกว่า 1.38 ล้านล้านบาท มี 10 โครงการอยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง A แหลมฉบัง, ลานจอดประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และระบบสาธารณูปโภคสุวรรณภูมิเฟส 2, ทางคู่จิระ-ขอนแก่น, มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด, บางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-นครราชสีมา, รถไฟฟ้าสีชมพูแคราย-มีนบุรี, สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ยังเหลือขออนุมัติโครงการและเปิดประมูล

มีรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง รวม 776,310 ล้านบาท สายกรุงเทพฯ-หัวหิน 211 กม. วงเงิน 94,673 ล้านบาท อยู่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำแผนเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (PPP) สายกรุงเทพฯ – ระยอง 193 กม. วงเงิน 226,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาการเชื่อมโยง 3 สนามบิน สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 380 กม. วงเงิน 276,225 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด และกรุงเทพฯ-โคราช วงเงิน 179,412 ล้านบาท รออนุมัติอีไอเอ ส่วนรถไฟสายสีแดง missing link วงเงิน 44,157 ล้านบาท กำลังปรับแบบสถานีบางซื่อรับส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูง

ส่วนโครงการในปี 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงินลงทุน 895,757.55 ล้านบาท ที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว มีโครงการพัฒนาสนามบินแม่สอด, เบตงและสกลนคร วงเงิน 7,685 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2,365 ล้านบาท เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา คืบหน้า 1.685% และเปิดเดินเรือเฟอรี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน

ทางคู่-รถไฟฟ้าเค้กก้อนใหญ่

ยังเหลือรถไฟทางคู่เฟส 2 และทางคู่สายใหม่ จำนวน 9 เส้นทาง วงเงิน 471,217.46 ล้านบาท ประกอบด้วย ปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่, เด่นชัย-เชียงของ และบ้านไผ่-นครพนม

รถไฟฟ้ายังเหลือ 8โครงการ วงเงิน 246,685 ล้านบาท ได้แก่ สายสีน้ำเงินต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สายสีเขียวสมุทรปราการ-บางปู, สายสีเขียวคูคต-ลำลูกกา, สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และรถไฟรางเบา จ.ภูเก็ต อยู่ระหว่างการปรับปรุงงานโยธาและจัดทำรายงานการร่วมทุน PPP สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 17,671.61 ล้านบาท สายสีแดงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.54 กม. วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท และแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง วงเงิน 31,149 ล้านบาท

ทางด่วน 3 สายทาง วงเงิน 62,711.97 ล้านบาท ได้แก่ สายกะทู้-ป่าตอง รออนุมัติอีไอเอ วงเงิน 13,916 ล้านบาท, ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก กำลังทบทวนผลศึกษาและอีไอเอ วงเงิน 17,551 ล้านบาท และสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก วงเงิน 31,244 ล้านบาทผ่านการอนุมัติจาก ครม. รอเปิดประมูลต้นปี 2561

ศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่ง 3 โครงการ วงเงิน 17,049 ล้านบาท ได้แก่ ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ชายแดน 9 จังหวัด, สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคเมืองหลัก 8 จังหวัด โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 35,099.54 ล้านบาท รออนุมัติรายงานสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จะเสร็จเดือน มิ.ย. 2561 รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือเฟอรี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบนวงเงิน 981.70 ล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน วงเงิน 2,272.22 ล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนแผน ระบบบริหารตั๋วร่วม วงเงิน 1,355.34 ล้านบาท รอเปิด PPP โครงการปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ วงเงิน 3,263.61 ล้านบาท กำลังเปิดประมูล

ทล.ชงโทลล์เวย์ไปบางปะอิน

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)เปิดเผยว่า กรมเสนอส่วนต่อขยายโทลล์เวย์รังสิต-บางปะอินและทางยกระดับธนบุรี-ปากท่อ บรรจุในแผนเร่งด่วนปี 2561 ส่วนโครงการในปี 2560 มีมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 80,600 ล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 30,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและการร่วมทุน จะแล้วเสร็จปีนี้ จากนั้นเสนอขออนุมัติโครงการและเริ่มก่อสร้างในปี 2561 พร้อมกับเร่งขอค่าเวนคืนมอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจนบุรีเพิ่ม 14,317 ล้านบาท จะเร่งเสนอกระทรวงเพื่อเสนอ ครม. คาดว่าจะได้รับอนุมัติในเดือน พ.ย.นี้

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เตรียมเสนอโครงการในแผนเร่งด่วนปี 2560 ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. บรรจุในแผนของปี 2561 ได้แก่ สายสีน้ำเงินบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สีเขียวสมุทรปราการ-บางปูและคูคต-ลำลูกกา, สีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และรถไฟฟ้าภูเก็ตและเชียงใหม่ อีกทั้งยังทำแผนการประมูลสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะคาดว่าโครงการทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562