คิกออฟ 1 เม.ย. ซิ่ง 120 กม./ชม. ประเดิมสายเอเชีย “บางปะอิน-อ่างทอง”

เคาะซิ่ง 120 กม./ชม.วันที่ 1 เม.ย.นี้ ประเดิมสายเอเชีย “บางปะอิน-อ่างทอง”ระยะทาง 50 กม. ลุ้นเฟสถัดไป “ราชพฤกษ์-ชัยพฤกษ์” อีก 2 เดือน “ศักดิ์สยาม” จี้ 2 กรมถนนรวมลีสรายชื่อถนนทั่วไทยจะปรับสปีดให้ภายในสิ้นมี.ค.นี้

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 15 มี.ค. 2564 ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปการคิกออฟบังคับใช้ความเร็วสูงสุดใหม่ที่ 120 กม./ชม. แล้ว โดยจะนำร่องที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 สายบางปะอิน–แยกหลวงพ่อโอ ช่วงกม.ที่ 4+100 – กม.ที่ 50+000 หรือช่วงบางปะอิน – อ่างทอง ระยะทาง 50 กม. ในวันที่ 1 เม.ย. 2564 นี้ เพราะเป็นวันสถาปนากระทรวงคมนาคม

ลุ้น “ราชพฤกษ์-ชัยพฤกษ์” เฟสถัดไป

ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เสนอเส้นทางที่เหมาะสมมาแล้ว โดยเป็นช่วงถ.ราชพฤกษ์ – ชัยพฤกษ์ ระยะทาง 90 กม. คาดว่าจะคิกออฟตามมาในอีก 2 เดือน ขณะที่กรมทางหลวง (ทล.) จะมีเส้นทางเพิ่มเติมอีก 150 กม.

“ซึ่งเท่าที่สำรวจมาทั้ง 2 หน่วยงานต้องการให้เส้นทางที่จะใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. เป็นระยะทางยาวๆ แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็น ระยะทาง 2-3 กม. เป็นช่วงๆก็สามารถประกาศไปก่อนได้ เพราะมีการติดตั้งป้ายประกาศเตือนอยู่แล้ว ซึ่งสามารถขยายไปเรื่อยๆได้ “

แนะควรประกาศก่อนใช้จริง 30 วัน

อย่างไรก็ตามการประกาศสายทางใหม่ๆ ต้องดูว่า จะดำเนินการปรับปรุงสภาพถนนเสร็จเมื่อไหร่ แล้วค่อยให้ประกาศออกมา โดยให้ประกาศก่อนใช้บังคับ 30 วัน เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมตัว

ทั้งสองหน่วยงานจะต้องเร่งสรุปข้อมูลทั้งหมด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นำเสนออนุกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ).เพื่อของบมาดำเนินการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยด้านจราจรต่อไป

ดึงเงินกองทุนต่างๆ มาดำเนินการ

โดยคาดว่าจะนำเสนอเส้นทางเพิ่มเติมได้ช่วงก่อนคิกออฟวันที่ 1 เม.ย. 2564 นี้ โดยเงินในกองทุนมีอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนจะสามารถนำมาใช้ได้เท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการที่จะพิจารณา

นอกจากนี้ ให้ไปสำรวจกองทุนต่างๆเพิ่มเติมที่มีการสนับสนุนด้านความปลอดภัยว่า สามารถสนับสนุนโครงการนี้เพิ่มเติมได้หรือไม่ โดยให้ไปดูทั้งรูปแบบการกู้และการให้เปล่า

“การกำหนดให้วิ่งบนระยะทาง 2-3 กม. จะสั้นไปหรือไม่ ต้องให้ทั้งสองหน่วยงานนำข้อมูลไปวิเคราะห์ก่อน  ปัญหาที่เจอหลักๆตอนนี้คือ จุดกลับรถเสมอระดับถนน ซึ่งได้ให้แนวคิดไปแล้วว่า ตามจุดกลับรถต่างๆควรก่อสร้างเป็นสะพานกลับรถที่ทั้งรถยนต์ จักรยานและมอเตอร์ไซค์ใช้ได้ แต่ไม่ใช่สะพานกลับรถแบบเกือกม้า ส่วนรถใหญ่ก็ให้กลับรถบริเวณสี่แยกต่างๆ เพื่อลดปัญหาจราจร” นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำ