“อาคม” ยังมั่นใจรถไฟไทย-จีนตอกเข็มทัน พ.ย.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 พ.ย.นี้จะมีการประชุมความร่วมมือรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 23 ที่ประเทศไทย ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือนพ.ย. จะส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้กับคณะผู้ชำนาญการได้ จากนั้นจะขอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดประชุมนัดพิเศษคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดใหญ่

“ทางจีนก็ให้ไทยกำหนดวันที่เริ่มดำเนินการแต่เราขอให้ผ่าน EIA ก่อนคิดว่า พ.ย. น่าจะเรียบร้อย การตอกเข็มยังอยู่ในกรอบเวลาเดิม” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,412.21 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 13,069 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 122,593.92 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้า 34,078.38 ล้านบาท จัดหาตู้รถไฟ 4,480 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษา 5,190 ล้านบาท

มีสถานียกระดับ 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development) 3 สถานี ได้แก่ สระบุรี 90 ไร่ ปากช่อง 541 ไร่ นครราชสีมา 272 ไร่


สำหรับการก่อสร้างแบ่งสัญญาออกแบบ 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร วงเงิน 425 ล้านบาท โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มอบให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ดำเนินการ ตอนที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร ตอนที่ 3 แก่งคอย-นคราชสีมาระยะทาง 119.5 กิโลเมตร และตอนที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร