ขสมก.แนะวิธีใช้บัตรสวัสดิการร่วมกับระบบ E-Ticket ก่อนใช้งานวันแรกกับรถเมล์ร้อนพรุ่งนี้!

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะนำระบบ E – Ticket มาใช้บนรถโดยสารธรรมดา
เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560
เป็นต้นไป โดยในระยะแรกจะให้บริการ จำนวน 600 คันก่อน และจะทยอยเปิดให้บริการจนครบ 800 คัน ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

​นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง ได้กำหนดให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ที่ไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและผ่านคุณสมบัติ ไปรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 เพื่อนำบัตรไปใช้สิทธิ์ตามวงเงินที่รัฐบาลกำหนด

ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.และรถไฟฟ้า มีวงเงิน 500 บาทต่อเดือน
ขสมก.ได้เตรียมความพร้อมให้บริการรถโดยสารธรรมดา เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 800 คัน

โดยรถโดยสารที่รองรับการให้บริการจะมีสติ๊กเกอร์สีเขียวข้อความ “รถคันนี้รองรับระบบ E-Ticket และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ติดบริเวณกระจกด้านหน้า – หลังรถโดยสาร และบริเวณประตูทางขึ้น โดยแบ่งการให้บริการเป็น 3 ประเภท ดังนี้

​1. รถโดยสารธรรมดาที่ติดตั้งเครื่องอ่านบัตร จำนวน 100 คัน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถขึ้น-ลงรถได้ทั้ง 2 ประตู และต้องนำบัตรมาแตะที่เครื่องอ่านบัตร ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ประตูรถทั้ง 2 ข้าง โดยจะต้องแตะบัตรทั้งขณะขึ้นและลงรถ เพื่อให้เครื่องอ่านบัตรหักค่าโดยสารจากวงเงินในบัตร

​2. รถโดยสารธรรมดาที่มีพนักงานเก็บค่าโดยสารให้บริการสมาร์ทโฟน จำนวน 250 คัน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถขึ้น-ลงรถได้ทั้ง 2 ประตู และต้องนำบัตรมาแตะที่สมาร์ทโฟนของพนักงานเก็บ
ค่าโดยสารเพียงครั้งเดียว แทนการแตะที่เครื่องอ่านบัตร เพื่อให้สมาร์ทโฟนหักค่าโดยสารจากวงเงินในบัตร

3. ส่วนที่เหลืออีก 450 คันขสมก.จะให้พนักงานเก็บค่าโดยสารบันทึกหลักฐาน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้บริการรถโดยสาร โดยผู้ถือบัตรฯจะต้องแสดงบัตรฯต่อพนักงานเก็บค่าโดยสารก่อนใช้บริการ

​ขสมก.ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในการให้บริการระบบ E-Ticket

​1. ดำเนินโครงการฝึกอบรมเรื่องการใช้งานระบบ E-Ticket ให้กับพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจและพนักงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5,000 คน เพื่อให้พนักงานมีทักษะความรู้เกี่ยวกับการใช้งานระบบ E-Ticket ตลอดจนรับทราบบทบาทหน้าที่ในการให้บริการประชาชน และสามารถแนะนำขั้นตอนการใช้งานระบบ E-Ticket ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างถูกต้อง


​2. จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษ นายตรวจและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ อยู่ประจำจุดบริเวณที่มีประชาชนผู้ใช้บริการหนาแน่น เช่น ป้ายรถโดยสารบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทั้ง 4 ด้าน หน้ากองสลากเดิม และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร เพื่อแนะนำขั้นตอนการใช้งานระบบ E-Ticket พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ