สิงห์ เอสเตท ลงทุนพลังงาน ซื้อหุ้น 3 โรงไฟฟ้า 400 MW ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจใหม่

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์
สัมภาษณ์พิเศษ

บิ๊กเซอร์ไพรส์ก่อนจบไตรมาส 1/64 เป็นสตอรี่การลงทุนระดับบิ๊กดีลของค่ายสิงห์ เอสเตท

ก่อนหน้านี้เพิ่งมีการประกาศปรับโครงสร้างผู้บริหาร และประกาศเป้าหมายการลงทุนเพื่อยกระดับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลภิรมย์ภักดี ไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจระดับโลก โดยดีไซน์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง และรุกคืบเข้าไปลงทุนในกิจการที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้อย่างสม่ำเสมอ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ถึงที่มาที่ไปในการประกาศเข้าไปซื้อหุ้น 30% ในกิจการ 3 โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศไทย รวมทั้งทิศทางการดำเนินธุรกิจของสิงห์ เอสเตทในปี 2564 นี้

Q : สิงห์รุกคืบลงทุนพลังงาน

บริษัทได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (cogeneration power plant) ขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ โดยเป็นสิทธิซื้อที่ราคาพาร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท

สำหรับแห่งแรกนั้นเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วมของบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง โดยดำเนินการผลิตอยู่แล้วด้วยกำลังการผลิต 123 เมกะวัตต์

ส่วนแห่งที่ 2 และ 3 เป็นโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด เป็นเจ้าของใบอนุญาต ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์เช่นกัน มีกำหนดเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 2566 กำลังการผลิตโรงงานละ 140 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ทั้งนั้น การเข้าซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจะเริ่มขึ้นเมื่อได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของสิงห์ เอสเตท ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมสามัญประจำปีในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่จะถึงนี้

ความสำเร็จในการลงทุนครั้งนี้ทางท่านประธาน (นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ.สิงห์ เอสเตท) ได้ประกาศวิสัยทัศน์ไปแล้วว่าเป็นดีลธุรกิจที่ดีมาก ๆ โรงไฟฟ้า 3 แห่งมีกำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 400 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีสัญญาขายไฟฟ้าล่วงหน้าแล้วเกือบ 70% ของกำลังผลิตทั้งหมด หรือคิดเป็นกำลังผลิต 270 เมกะวัตต์

และถือเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะทำให้สิงห์ เอสเตทก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านวิศวกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยการลงทุนครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเดินหน้าขยายธุรกิจของสิงห์ให้ใหญ่ขึ้น 3 เท่า เป็นบริษัทที่มีรายได้ 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันนี้

Q : ดีลนี้สร้างแต้มต่ออะไรให้กับสิงห์

การลงทุนด้านพลังงานด้วยการเข้าไปถือหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งในครั้งนี้ เพื่อคอนเฟิร์มว่าเราต้องการสร้างธุรกิจนี้ให้ยิ่งใหญ่ อย่างมั่นคง และมีผลตอบแทนที่แน่นอนสม่ำเสมอ พร้อม ๆ กับการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต โดยที่เราจะใช้ประโยชน์จากการผนึกกำลังกันของ 4 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตทมาเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในเวทีระดับประเทศและเวทีระดับโลก

โดยปี 2564 เป็นปีที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่เฟสต่อไปในการพัฒนาธุรกิจของสิงห์ เอสเตท เป็นกลยุทธ์การลงทุนเข้าสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะมาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับ 3 กลุ่มธุรกิจที่เป็นแกนหลักแต่เดิม ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม

ใบอนุญาตโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตระดับนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะหามาได้ง่าย ๆ เพราะฉะนั้น เราจึงรู้สึกยินดีมากเป็นพิเศษที่ได้รับสิทธิในการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญถึง 3 แห่งในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้เรามีฐานธุรกิจที่มั่นคงในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

สำหรับโรงไฟฟ้าอ่างทอง เพาเวอร์ เป็นโรงไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องขายไฟให้กับผู้ใช้ทั่วไป แต่กระแสไฟฟ้าจำนวน 75% ของกำลังผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้มีการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว 25 ปี โดยผู้ซื้อคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ในขณะที่โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรจนสูงขึ้นกว่าอัตราที่ประเมินไว้ในขั้นต้น คาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ 7,500 ล้านบาทในปี 2567

และมากไปกว่านั้น คือ จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจทั้งหมดด้วยการเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจต่าง ๆ ของสิงห์ เอสเตท (synergy benefits)

ในด้านแหล่งเงินลงทุนธนาคารจะให้เงินกู้กับทางเราเพื่อมาลงทุนในโครงการนี้ในช่วงแรกก่อน แล้วเราจึงค่อยลงทุนเองในภายหลังและในจำนวนที่ไม่มาก โดยศักยภาพทางการเงินเราแข็งแกร่งมาก สิงห์ เอสเตทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำมากอยู่ที่ 0.96 เท่า อีกทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีก 25,000 ล้านบาท

Q : จะมีบิ๊กดีลลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมหรือไม่

สิงห์ เอสเตทกำลังเร่งเครื่องตามแผนเชิงกลยุทธ์โดยการเดินหน้า 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ 4 นั้นจะประกอบไปด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจบริการด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของสิงห์ เอสเตท

ทั้งนี้ หลังจากได้สิทธิเข้าซื้อหุ้นในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 แห่ง เรากำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจอื่นเพิ่มเติมในกลุ่มธุรกิจที่ 4 ตามที่ได้กล่าวไป

Q : ลู่ทางลงทุน New Business

แผนเชิงกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ คือ การรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่จะมาส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจทั้งหมดของสิงห์ เอสเตท ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า แต่กลุ่มธุรกิจที่ 4 ที่สิงห์ เอสเตทมองไว้ยังรวมถึงธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจบริการนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

โดยจุดโฟกัสสำคัญ คือ จะต้องเป็นธุรกิจเข้ามาเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตของสิงห์ เอสเตท และส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจทั้งหมด โดยเรามองว่าด้วยแนวทางการเดินหน้า 4 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตท จะทำให้เรามีจุดโดดเด่นที่แตกต่าง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จากการเติมเต็มซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการบูรณาการธุรกิจ

นอกจากนั้น ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้มากกว่า อีกทั้งยังจะช่วยให้สิงห์ เอสเตทมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่ธุรกิจในเครือมีวงจรทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีรูปแบบความเสี่ยงไม่เหมือนกัน


และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ประจำและสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ ภายใต้โมเดล resilient business ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนขององค์กรธุรกิจระดับโลก