เปิด “สายสีแดง” วิ่งฟรี 3 เดือน เร่งประมูลบางซื่อรับผู้โดยสาร 8 หมื่นคน

“ศักดิ์สยาม” ปักหมุดรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดบริการ ก.ค. 64 ฟรี 3 เดือน เก็บค่าโดยสาร 15 พ.ย. เริ่มต้น 12 บาท สูงสุด 42 บาท เผยถูกที่สุดในระบบรถไฟฟ้า เร่ง ร.ฟ.ท.ประมูลพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ รองรับประชาชนใช้บริการวันละ 8 หมื่นคน จัดคิวที่ดินรอบสถานี ดึงเอกชนพัฒนา 3 แปลง รวมย่าน กม.11 ดีเดย์ 29 มี.ค.ลุยเซ็น 3 สัญญารถไฟไทย-จีน วงเงิน 2.7 หมื่นล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เริ่มเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริงรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 41.56 กม.

หลังจากนี้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถขอเข้ามาทดลองใช้บริการได้ที่ ร.ฟ.ท. ก่อนเปิดให้บริการปลายเดือน ก.ค.นี้ จะเปิดให้ใช้ฟรี 3 เดือน และเปิดเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเก็บค่าโดยสารวันที่ 15 พ.ย. 2564

“วันเปิดอย่างไม่เป็นทางการ ก.ค.นี้จะเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 80,000 เที่ยวคน/วัน รถไฟฟ้าสายสีแดงจะเชื่อมการเดินทางจากชานเมืองเข้ามาในเมืองได้สะดวกรวดเร็ว โดยใช้เวลาเดินทางจากบางซื่อ-รังสิต 25 นาที และบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15 นาที มีรถออกทุก 10 นาที ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น.”

สำหรับค่าโดยสารจะจัดเก็บในอัตราเริ่มต้นที่ 12 บาท เป็นราคาที่ถูกที่สุดของการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า และสูงสุดไม่เกิน 42 บาท จะเป็นการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเฉลี่ย 1.01 บาท/กม. หากเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อ-รังสิต ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 12-38 บาท

และจากสถานีกลางบางซื่อ-ตลิ่งชัน อยู่ที่ 12-27 บาท เนื่องจากมีระยะทางสั้นกว่า แต่ถ้าหากใช้บริการตั้งแต่สถานีตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะอยู่ที่ 42 บาท และเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว

นอกจากนี้จะจำหน่ายบัตรโดยสารแบบตั๋วเที่ยวรายเดือน แบ่งเป็นแบบ 20 เที่ยว ราคา 700 บาท เฉลี่ย 35 บาท/เที่ยว แบบ 40 เที่ยว ราคา 900 บาท เฉลี่ย 30 บาท/เที่ยว และแบบ 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาท/เที่ยว ยังมีบัตรนักเรียน เด็กสูงน้อยกว่า 90 ซม. โดยสารฟรี เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี และส่วนสูงอยู่ระหว่าง 90-120 ซม. ลดค่าโดยสาร 50% และเด็กอายุ 14-23 ปี ลด 10% จากค่าโดยสารปกติ และผู้สูงอายุได้รับส่วนลด 50%

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ยังเร่ง ร.ฟ.ท.เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อโดยเร็ว เพื่อรองรับการเปิดบริการสายสีแดงจะเปิดเต็มรูปแบบในเดือน พ.ย.นี้ โดยมีพื้นที่จะให้เอกชนบริหารจัดการ 51,465 ตร.ม. จากพื้นที่ทั้งหมด 298,200 ตร.ม. และยังให้เร่งเปิดประมูลที่ดินโดยรอบสถานีกลางบางซื่อ 9 แปลง

มี 5 แปลงที่มีความพร้อมและไม่เกี่ยวกับการเดินรถ จะนำร่องประมูลหาเอกชนพัฒนาในปีนี้ 3 แปลง ได้แก่ A , E และ G เป็นพื้นที่ย่าน กม.11 พัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ เช่น ศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า เป็นต้น ส่วนแปลง D ติดสัญญาเช่าและที่ทำการของ ร.ฟ.ท.บางซื่อ และแปลง B มีการสร้างอาคารพาณิชย์คร่อมทางรถไฟ

อีก 4 แปลงติดสัญญาเช่าและอุปสรรค โดยแปลง C ติดพื้นที่เช่าสถานีขนส่งหมอชิต 2, แปลง F ติดโรงซ่อมรถจักรบางซื่อ ต้องใช้เวลา 3-4 ปีในการย้ายไป อ.แก่งคอย จ.สระบุรี, แปลง H ติดโรงตรวจซ่อมวาระรถโดยสาร และแปลง I มีโรงซ่อมรถไฟฟ้า

“การจัดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง จาก 118 ขบวน/วัน เป็นรถเชิงพาณิชย์ 66 ขบวน/วัน และรถไฟชานเมือง-ธรรมดาอีก 52 ขบวน/วัน หลังเปิดสายสีแดง พ.ย.นี้ จะลดเหลือ 22 ขบวน/วัน ให้วิ่งเข้าหัวลำโพง 05.00-19.00 น. ส่วนขบวนอื่น ๆ หลังเวลา 22.00 น. จะทำให้ลดการปิดเครื่องกั้นรถไฟได้ 5 เท่า จาก 826 ครั้ง เหลือ 154 ครั้ง”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า วันที่ 29 มี.ค. 2564 จะเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อีก 3 สัญญา วงเงิน 27,527 ล้านบาท ได้แก่ สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ กับกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่นฯ, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) วงเงิน 11,525.36 ล้านบาท สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยกับ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ วงเงิน 6,573 ล้านบาท และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี กับ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ 9,429 ล้านบาท

ส่วนสัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร ที่ชนะประมูล วงเงิน 8,626.8 ล้านบาท ไม่ยืนราคา กำลังพิจารณาจะยกเลิกประมูลใหม่หรือเชิญรายที่ 2 บมจ.ยูนิคฯที่เสนอราคาสูงกว่ารายแรกกว่า 2,000 ล้านบาท มาต่อรองราคา