3 ยักษ์คว้างานรถไฟไทยจีน 2.7 หมื่นล. รายกลางถอดใจ “ดอนเมือง-นวนคร”

รถไฟไทย-จีน

29 มี.ค.นี้ คมนาคมเซ็นเพิ่ม 3 สัญญารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เงินกว่า 2.7 หมื่นล้าน กลุ่มไชน่าเสตท-เนาวรัตน์-เอ.เอส. ITD ยูนิค เผยมี 1 สัญญาช่วงดอนเมือง-นวนคร รับเหมาถอดใจ ยืนราคาไม่ไหว อีก 3 สัญญารอเคลียร์เอกสาร  ปักหมุดปี’69 ได้นั่งแน่

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เร่งดำเนินงานและเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนงาน เพื่อให้การลงทุนภาครัฐเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ลงนาม 3 สัญญา 29มี.ค.

ทั้งนี้ ล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง จะมีการลงนามในสัญญาการก่อสร้างการพัฒนาระบบรถไฟความร่วมสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา อีก 3 สัญญาในวันที่ 29 มีนาคม 2564 นี้ ที่กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเป็นประธานในพิธีลงนาม

ทั้ง 3 สัญญา มีวงเงินรวม 27,527 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.งานสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพมีกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่นฯ, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 11,525.36 ล้านบาท

2. งานสัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มีบมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 6,573 ล้านบาท และ3.งานสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว – สระบุรี มีบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 9,429 ล้านบาท

ยังรอเคลียร์เอกสารอีก 3 สัญญา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อลงนามในสัญญาแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จะออกหนังสือเริ่มดำเนินงานก่อสร้างได้ทันที ในส่วนสัญญาที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น สัญญาที่ 4-1 งานโยธาสำหรับช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง งานสัญญาที่ 4-2 งานโยธาสำหรับช่วงดอนเมือง – นวนคร และงานสัญญาที่ 4-5 งานโยธาสำหรับช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาและจัดเตรียมเอกสาร เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเดินหน้าการก่อสร้างตามโครงการต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา มีระยะทาง 253 กม. มี 6 สถานี ประกอบด้วย กรุงเทพ(บางซื่อ) ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 179,412.21 ล้านบาท

โดยฝ่ายไทยได้ลงทุนโครงการทั้งหมดและดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ควบคุมงานการก่อสร้างโยธา  ออกแบบและติดตั้งงานระบบรางและระบบไฟฟ้า เครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถและจัดนำขบวนรถไฟความเร็วสูง

ตั้งเป้าเปิดบริการปี2569

มีการแบ่งสัญญาก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 1 สัญญา ช่วงกลางดง-ปางโศก อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 6 สัญญา มีความก้าวหน้าตามลำดับ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงได้ในปี 2569

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แผนเดิมของกระทรวงคมนาคม จะมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างในวันที่ 29 มีนาคมนี้ จำนวน 4 สัญญา แต่สัญญา 4-2 งานก่อสร้างช่วงดอนเมือง-นวนคร ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร ที่ชนะประมูล วงเงิน 8,626.8 ล้านบาท ไม่ยืนราคา เนื่องจากเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางมาก

ซึ่งร.ฟ.ท.กำลังพิจารณาจะยกเลิกและเปิดประมูลใหม่หรือจะเชิญรายที่ 2 บมจ.ยูนิคฯที่เสนอราคาสูงกว่ารายแรกกว่า 2,000 ล้านบาท มาต่อรองราคา

รถไฟไทยจีน