ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “เทคนิค-ราคา” ต้องมาคู่กัน

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

แม้การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีจะคืบหน้าไปมาก แต่ยังต้องจับตามองว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศยกเลิกการประมูลและเตรียมยกร่างทีโออาร์เปิดประมูลใหม่ช่วงเดือนเมษายน 2564

หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนระหว่างวันที่ 2-16 มีนาคมที่ผ่านมา จะเป็นไปตามแผนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดกฎกติกาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมทุน PPP ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562

ล่าสุด นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟม. ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาความล่าช้าในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการถกเถียงเกณฑ์ประเมินเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคและราคา สะท้อนมุมมองจากประสบการณ์จริงที่เคยรับผิดชอบดูแลการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในอดีต

ประภัสร์ จงสงวน

ราคาต้องมาคู่คุณภาพ

อดีตผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า จริง ๆ แล้วตอนที่ รฟม.ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก ระหว่างหัวลำโพง-บางซื่อ ขณะนั้นก็ดูทั้ง 2 ส่วน คือ ราคาและคุณภาพ ให้ความสำคัญพอ ๆ กัน และทั้ง 2 ส่วนล้วนเชื่อมโยงกันเนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่เรื่องราคาและคุณภาพประกอบกับเทคนิคจะไม่ยึดโยงกัน จึงกล้าพูดได้เลยว่าหากไปดูจะพบว่าแม้จะผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้วคุณภาพดีกว่ารถไฟฟ้าสายอื่นที่ทำไม่กี่ปีก็เกิดปัญหาต้องมาตามแก้ไข ทั้งหมดจึงยืนยันได้ว่าเรื่องของราคา คุณภาพ ความสมเหตุสมผล เป็นสิ่งที่ต้องมาด้วยกัน

TOR เปิดช่องรับแก้เกณฑ์

ในฐานะที่เป็นคนนอก ตอนนี้มองดูแล้วก็ตั้งคำถามว่า ทำไมกระบวนการประมูลราคาสายสีส้มถึงช้าเช่นนี้ เพราะตามปกติทีโออาร์ที่เขียนไว้จะต้องเปิดช่องให้หน่วยงานของรัฐปรับเกณฑ์ประเมินได้เสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการล็อกสเป็ก แต่ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีพัฒนาตลอดเวลา ช่วงเวลาที่เริ่มต้นโครงการกับตอนยื่นประมูลเทคนิคและเทคโนโลยีอาจเปลี่ยนแปลงเพราะใช้เวลานาน จึงไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าทำไมเรื่องถึงบานปลายมาถึงขั้นต้องล้มการประมูล และเริ่มต้นกระบวนการใหม่อีกครั้ง

ส่วนประเด็นที่จะทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบกันก็ต้องไปดูรายละเอียดว่า ที่ว่าเสียเปรียบนั้นเสียเปรียบอย่างไร แล้วเอื้อประโยชน์ให้ใคร ในเมื่อทั้งหมดยังไม่มีการเปิดซองประมูลเลยสักครั้ง ยังไม่มีใครเคยเห็นข้อเสนอของบริษัทใดเลย การพิจารณาสัญญาก็ยังไม่เกิด แล้วจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้อย่างไร

แจงข้อเสียเปรียบให้ชัด

นายประภัสร์ชี้ด้วยว่า ที่สำคัญกรณีนี้คือการเปิดหาผู้ร่วมลงทุน ในฐานะเอกชนก็ต้องดำเนินการตามเงื่อนไข เมื่อเป็นโครงการทำรถไฟฟ้าต้องมีเทคนิคมานำเสนอ หากทำไม่ได้ ไม่เคยมีประสบการณ์ก็ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่พร้อมขายเทคโนโลยีให้ ในเอเชียมีทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือกระทั่งอินเดียก็พร้อม หากไปทางยุโรปก็มีบริษัทเต็มไปหมดที่มีศักยภาพ ทำงานได้ก็สามารถไปซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้มาแล้วทำเป็นข้อเสนอได้เช่นกัน ที่สำคัญเรื่องการขุดอุโมงค์ไม่ใช่เทคนิคใหม่ของโลก ที่ไหนเขาก็ขุดกัน ไม่ใช่เทคโนโลยีผูกขาด เพียงแต่ต้องมีแผนงานให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดความเสียหาย

“ผมว่าการไปพูดว่าเอื้อประโยชน์คนนั้นคนนี้ หรือทำให้เสียเปรียบ ต้องพูดกันให้ชัดในรายละเอียดว่าเสียเปรียบอะไร เสียเปรียบตรงไหน ในเมื่อยังไม่มีการเปิดซอง ยังไม่มีการเสนอเงื่อนไขใด ๆ การพูดเหมารวมเช่นนี้ทำให้ดูเป็นเรื่องร้ายแรงจนอาจเกิดการตั้งคำถามว่าที่ไปตั้งเป้าที่ราคา หมายความว่าถ้ายึดราคาเป็นที่ตั้ง จะได้เปรียบใช่หรือไม่ แล้วคุณภาพที่จะต้องเอามาพิจารณาด้วยทำไมถึงไม่พูดถึงตรงนี้” นายประภัสร์กล่าว

อีกสาเหตุที่เรื่องเทคนิคเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้กรณีนี้จะเป็นเรื่องของสัญญาสัมปทาน ซึ่งก็คือให้เอกชนเป็นผู้บริหารภายในระยะเวลาจำกัด และมอบรายได้ให้กับรัฐ แต่หากผลงานที่ออกมาไม่มีคุณภาพ ต้องแก้ไข ต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาล แล้วบริษัทเอกชนมองว่าไม่คุ้มทุน ทิ้งงานไป ใครจะต้องมาดูแล ก็ต้องเป็นหน่วยงานรัฐกลับเข้ามารับผิดชอบ สุดท้ายย่อมต้องใช้เงินภาษีของประชาชนแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดอีก

ดังนั้น หากจะมามองเรื่องราคาอย่างเดียว เห็นว่าไม่แฟร์กับหน่วยงานรัฐและประชาชนที่จะต้องเป็นผู้รับผลกระทบในอนาคต