ครม.เคาะกรอบวงเงินเวนคืนไฮสปีดซี.พี. เพิ่ม 2,170 ล้าน แบ่งก้อนแรก 607 ล้านเวนคืน “สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา” ให้ทัน ต.ค. 64 ยังไม่มีการพิจารณา “แหลมฉบังเฟส 3” ของกลุ่มกัลฟ์-ปตท.ไชน่าฮาร์เบอร์
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เสนอแผนงานขยายกรอบวงเงินเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
เคาะงบเวนคืนเพิ่ม 2,170 ล้าน
เป็นการอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปรับเพิ่มกรอบวงเงินเวนคืนอีก 2,170 ล้านบาท ทำให้ค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจาก 3,570 ล้านบาทเป็น 5,740 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวแบ่งเป็น 1. ขออนุมัติจากงบกลางปี 2564 วงเงิน 607 ล้านบาท เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ในการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา
ซึ่งมีกำหนดจะต้องส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญาภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 นี้ โดยมีความจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรในวันที่ 21 พ.ค. 2564 และ 2. จากการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมาสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และเผื่อเป็นค่าอุทธรณ์จำนวน 1,562 ล้านบาท
อีอีซียังไม่ชง แหลมฉบังเฟส3
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ทางอีอีซียังไม่ได้เสนอผลการเจรจาโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี แต่อย่างใด
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) วงเงิน 84,361 ล้านบาท มีระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ผลประมูลมีกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ,บจ. พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และบจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ชนะ ประมูล
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกแล้วอยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรณีวงเงินที่เจรจากับเอกชน ต่ำกว่ากรอบที่อนุมัติ
กัลฟ์-ปตท.ไชน่าฮาร์เบอร์เสนอเฉียด 3 หมื่นล้าน
“จากการเจรจากับเอกชนได้ปรับเพิ่มผลตอบแทนขึ้นมาที่ 29,050 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบราคาที่คาดหวัง 32,225 ล้านบาท ประมาณ 9.85% คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในปีนี้”
หลัง ครม.เห็นชอบ จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ และเสนอ กพอ.อนุมัติก่อนลงนามสัญญา โดยหลังลงนามกลุ่ม GPC จะรับผิดชอบดำเนินการเรื่อง EIA ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี และก่อสร้างใน 4 ปี
ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ 29,050 ล้านบาท หากคำนวณNPV ตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี จะอยู่ที่กว่า 87,400 ล้านบาท ซึ่งยอมรับได้ และเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน (FS) ต่ำกว่าประมาณ 300 ล้านบาท เท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า คาดว่าแหลมฉบังเฟส 3ครม.จะเข้าสู่การพิจารณา เพื่ออนุมัติในสัปดาห์หน้า