ธอส.ผุดบิ๊กดาต้า”บ้านมือ2″ อสังหาฟื้นยอดกู้วันละพันล้าน

เอ็มดี ธอส.ชี้กำลังซื้ออสังหาฯฟื้น ยอดทำธุรกรรมทะลักวันละพันล้าน ตรึงดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน-ไม่เน้นทำกำไร เร่งเดินหน้า BIG DATA รวบบ้านมือสองทั่วประเทศเข้าระบบ เอกชนเชียร์ทำสำเร็จจะเกิดการซื้อขายบ้านมือสอง-อาคารร้าง 4 แสนหน่วย สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ 6-7 แสนล้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตามภารกิจหลัก รวมทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกคนมีบ้านเป็นของตนเอง และพยายามตรึงดอกเบี้ยบ้านเพื่อผ่อนภาระผู้บริโภคโดยเฉพาะลูกค้าระดับกลางและล่างแล้ว ธอส.อยู่ระหว่างจัดทำศูนย์ข้อมูลบ้านมือสองทั้งระบบ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถใช้เป็นข้อมูลในการซื้อขาย การกำหนดนโยบาย รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม

ยื่นกู้ซื้อบ้านทะลัก

ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อบ้านนั้น ตั้งแต่ไตรมาส 3/2560 เป็นต้นมา แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีทิศทางดีขึ้น เห็นได้จากเดิมที่ปล่อยสินเชื่อได้วันละ 600-700 ล้านบาท ช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มเป็นวันละ 1 พันล้านบาท และน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เห็นได้จากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.เองที่ในเดือน ก.ย.ปล่อยสินเชื่อได้ 19,736 ล้านบาท สูงสุดเมื่อเทียบกับทุกเดือนนับตั้งแต่ต้นปีมา และสูงเดือน ก.ย. 2559 ที่ปล่อยสินเชื่อได้ 14,514 ล้านบาท จึงสะท้อนได้ว่า กำลังซื้อยังมีและกระเตื้องขึ้น

“จากที่บอกกันว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ขยาย ผมว่าไม่ใช่แล้วนะ เพราะ ธอส.ปล่อยสินเชื่อได้ เห็นจากตัวเลขสินเชื่อของ ธอส.ที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3 สะท้อนกำลังซื้อที่มีเข้ามา ทำให้เห็นสัญญาณว่าดีขึ้นแล้ว และปัจจัยพื้นฐานของประเทศหลาย ๆ ตัวก็ดีขึ้น อสังหาฯ ก็น่าจะดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า”

ทั้งนี้ ในปี 2560 นี้ ธอส.ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโต 8% คิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อ 178,224 ล้านบาท ขณะที่ตลาดสินเชื่ออสังหาฯ โดยรวมประเมินว่าน่าจะเติบโตแค่ระดับ 3% เท่านั้น ซึ่ง ธอส.ได้รับนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงการคลังให้ขยายสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่ออสังหาฯมากช่วงที่ผ่านมา

สินเชื่อเข้าเป้า 1.78 แสน ล.

นายฉัตรชัยกล่าวว่า การที่ ธอส.ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.นั้นเนื่องจากธนาคารได้จัดมหกรรมตามภาคต่าง ๆ ที่สำคัญได้ขยับจัดงานมหกรรม “บ้าน ธอส. เอ็กซ์โป @ กรุงเทพฯ” ประจำปี 2560 เร็วขึ้น จากทุกปีจัดปลายก.ย.-ต.ค. มาจัดเมื่อช่วง 24-27 ส.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเริ่มให้กู้โครงการสินเชื่อ Home For All ดอกเบี้ยต่ำ เฉลี่ย 3 ปีแรก แค่ 2.9% รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ 4 กรณี 1) ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 2) ค่าประเมินราคาหลักประกัน 3) ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม 4) ค่าจดทะเบียนจำนอง

“ตัวเลขสินเชื่อตั้งแต่ไตรมาสแรกมาร่วงกราว แต่ตอนนี้กลับขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ เดิมสินเชื่อจะต่ำสุด แต่ตอนนี้สูงที่สุดแล้ว ซึ่งในกรุงเทพฯคนจะกู้เงินต่อรายเฉลี่ย 3 ล้านบาท ต่างจังหวัด 1.5 ล้านบาท โดยต่างจังหวัดจะเติบโตดีกว่าในแง่จำนวนธุรกรรม แต่กรุงเทพฯจะเติบโตดีกว่าในแง่มูลค่า”ดังนั้นค่อนข้างมั่นใจว่า ในช่วงที่เหลืออีก 2-3 เดือนที่เหลือ จะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย โดยจะต้องปล่อยสินเชื่อในเดือน ต.ค.ให้ได้ 17,000-18,000 ล้านบาท เดือน พ.ย. 20,000 ล้านบาท และเดือน ธ.ค. 23,000 ล้านบาท

“พอ ก.ย. ทำได้ 19,000 ล้านบาท ทุกคนก็มั่นใจว่าทำได้ อย่างเดือน ต.ค.นี้วันที่ 1-23 ต.ค. ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 12,300 ล้านบาท แล้วก็ทำนิติกรรมกันเกิน 1,000 ล้านบาทต่อวัน ฉะนั้นสปีดสูงมาก จากก่อนหน้านั้นที่ทำธุรกรรมอยู่วันละ 600-650 ล้านบาท”

ย้ำจุดยืนตรึงดอกเบี้ยต่ำนานที่สุด

นอกจากนี้ ธอส.ได้รับนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ว่าไม่ต้องทำกำไรสูงสุด แต่มุ่งเน้นให้คนไทยมีบ้าน อย่างสินเชื่อ Home For All เฉพาะการยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 กรณี หากปล่อยสินเชื่อเต็มวงเงิน 48,000 ล้านบาท ธนาคารจะมีต้นทุน 600 ล้านบาท หรือทุก ๆ 10,000 ล้านบาท มีต้นทุน 125 ล้านบาท

สำหรับการจะรักษากำลังซื้อให้มีความต่อเนื่องนั้น ธอส. จะพยายามตรึงดอกเบี้ย ผ่านโครงการสินเชื่อ Home For All ที่เฉลี่ย 3 ปี 2.9% ออกไปอีก 1 ไตรมาส แม้ดอกเบี้ยในตลาดจะปรับขึ้นก็จะตรึงให้นานที่สุด โดยยอดปล่อยสินเชื่อ Home For All ณ 18 ต.ค. มีการยื่นขอสินเชื่อ 4.2 หมื่นล้านบาท อนุมัติแล้ว 3.1 หมื่นล้านบาท เป้าหมายที่ตั้งไว้ 4.8 หมื่นล้านบาท น่าจะเต็มวงเงินภายในสิ้นปีนี้

“ส่วนปีหน้าที่ประเมินกันว่า เป็นภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ดอกเบี้ยในตลาดจะปรับขึ้น 0.25-0.5% ธนาคารได้คำนวณงบการเงินไว้แล้ว และจะตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด หรือถ้าเขาขยับ 0.25% เราอาจปรับแค่ 0.125%” และเดือน พ.ย.นี้ ธอส.จะออกโปรดักต์เงินฝากออมทรัพย์ตัวใหม่ เพิ่มดอกเบี้ยให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเกือบ 2 เท่า จากดอกเบี้ยปกติ ที่ฝากเงินไม่เกิน 3 แสนบาท เพื่อส่งเสริมการออมผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ ตั้งเป้ารับฝากไว้ 5,000 ล้านบาท ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือปีนี้ ซึ่งจะทำให้เงินฝากปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย 835,322 ล้านบาท

ผุดศูนย์ข้อมูลบ้านมือสอง

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ธอส. ยังได้รับนโยบายจากนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ให้ทำระบบฐานข้อมูลบ้านมือสอง ซึ่งได้ให้ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์รับไปดำเนินการ โดยจะทำเป็นระบบฐานะข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ ทำให้ภาคอสังหามีจิ๊กซอว์ครบ จากเดิมที่มีแต่บ้านมือ 1

“อย่างเวลาคนจะซื้อบ้าน สามารถค้นประวัติบ้านหลังที่จะซื้อได้ว่าเป็นอย่างไร แบงก์ก็จะมีสินเชื่อไว้รองรับ มีอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ กันให้เลือก จากปัจจุบันไม่มีข้อมูลกลาง ลูกค้าต้องวิ่งไปทุกแบงก์”

ทั้งนี้ เฟสแรก จะนำข้อมูลสินทรัพย์รอการขาย (NPA) เฉพาะของ ธอส.มาใส่ในระบบนำร่องก่อน ซึ่งปัจจุบัน (ณ 30 ก.ย. 60) มียอด NPA คงเหลือ 14,337 รายการ มูลค่า 3,845.79 ล้านบาท

เฟสต่อไป จะเป็นข้อมูล NPA ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้งหมด รวมถึงบุคคลทั่วไปก็สามารถนำข้อมูลบ้านมือสองของตัวเองขึ้นมาในระบบได้ รวมถึงข้อมูลทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างรอการขายทอดตลาดในส่วนของกรมบังคับคดี ส่วนแบงก์พาณิชย์ต้องขึ้นกับแต่ละแบงก์ว่าจะเอามารวมหรือไม่

ชี้สร้างมูลค่าเพิ่ม ศก. 7 แสน ล.

ด้านนายสมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้อมูลบ้านมือสองยังกระจัดกระจายอยู่ในมือแบงก์ รวมทั้งเจ้าของทรัพย์ซึ่งเป็นคนทั่วไป บริษัทนายหน้า กรมบังคับคดี ฯลฯ หากรัฐบาลดำเนินการจริงจังโดยนำบ้าน อาคารสิ่งปลูกสร้างมือสองเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด ในรูป BIG DATA หรือ multi living system ได้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศมหาศาล เพราะจะทำให้บ้านมือสองตึก อาคารสิ่งปลูกสร้างมือสอง 3-4 แสนหน่วย มูลค่าราว 6-7 แสนล้านบาทเกิดการซื้อขายหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น จากปัจจุบันถูกทิ้งร้างจำนวนมาก ไม่เกิดประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจยิ่งถ้ารัฐมีมาตรการสนับสนุนชัดเจน เช่น ลดค่าจดทะเบียนโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะแบบถาวรจะยิ่งเกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือ ทำให้บ้านมือสองที่อยู่ในตลาดและเสื่อมค่าลงเรื่อย ๆ ถูกรีโนเวตแล้วนำออกขาย ทำให้บ้านมือสองซึ่งถูกปล่อยทิ้ง สร้างมูลค่าเพิ่มหมุนเวียนเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ