คลอดพิมพ์เขียวผังเมืองรวมนนทบุรี บูมรอบสถานีรถไฟฟ้า 3 สาย-ปั้นฮับธุรกิจบางใหญ่

พัฒนาได้เต็มที่ - ร่างผังเมืองรวมนนทบุรีที่ได้รับอนุมัติจากบอร์ดผังเมืองใหญ่ ขณะนี้กำลังปิดประกาศ 90 วัน คาดว่าปลายปี 2561 จะมีผลบังคับใช้ หัวใจสำคัญมีการนำข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเหมือนกับกรุงเทพมหานครมาคุมการพัฒนาพื้นที่ เช่น รัศมี 500 เมตรสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีแดงและสีชมพู ที่จะเปิดให้พัฒนาได้มากขึ้น

บอร์ดผังเมืองไฟเขียวร่างผังเมืองรวมนนทบุรีฉบับใหม่ เนื้อที่ 3.8 แสนไร่ ปล่อยผี BCR ขนาดที่ดิน อาคาร ดึง FAR-OSR คุมเข้ม 500 เมตร รอบสถานีรถไฟฟ้า 3 สาย 3 สี “ม่วง-ชมพู-แดง” คงพื้นที่เกษตรกรรมอนุรักษ์สวนทุเรียน เพิ่มปอดเมือง เปิดโซนตะวันตก-ตะวันออกที่อยู่อาศัยชั้นดี ชูบางใหญ่ฮับธุรกิจ ตรึงโซนน้ำหลากห้ามสร้างบ้านจัดสรร ป้องกันน้ำท่วมระยะยาว

แหล่งข่าวจากองค์การบริหารส่วน จ.นนทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างผังเมืองรวมนนทบุรีปรับปรุงครั้งที่ 2 ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ผังเมืองแล้ว และยังให้ยกเว้นข้อกำหนดบางประการ ได้แก่ อัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่แปลงที่ดิน (BCR) ที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารและขนาดของแปลงที่ดินที่จะขออนุญาตให้สร้างอาคารได้ โดยไม่ต้องกำหนดขนาดแปลงที่ดินตามที่ พ.ร.บ.ผังเมืองกำหนด

ปิดประกาศ 90 วันถึง ม.ค. 61

“กำลังปิดประกาศ 90 วันนับจากเดือน ต.ค.นี้ถึงเดือน ม.ค. 2561 จากนั้นจะนำร่างเสนอการอนุมัติตามขั้นตอนของกฎหมาย เสนอไปกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะรัฐมนตรี เพื่อออกประกาศบังคับใช้ เร็วสุดก็ปลายปี 2561 หลังหมดอายุมาตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2555”

ผังเมืองรวมนนทบุรี มีพื้นที่เขตวางผัง 622,303 ตร.กม. หรือ 388,939 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของ จ.นนทบุรี ได้แก่ อ.เมืองนนทบุรี อ.ปากเกร็ด อ.บางบัวทอง อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ และ อ.ไทรน้อย มีจำนวนประชากรในเขตวางผังปี 2555 กว่า 1.3 ล้านคน คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 จะมีประชากรกว่า 2.2 ล้านคน มีแนวโน้มขยายตัวไปทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนกาญจนาภิเษก

พื้นที่เกษตรกรรมลดแสนไร่

ปัจจุบัน จ.นนทบุรี มีความเจริญของเมืองอย่างมาก จากปริมาณหมู่บ้านจัดสรรที่เพิ่มขึ้น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 13 ห้าง และส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง เช่น สำนักงานกองบัญชาการสอบสวนกลางที่เมืองทองธานี จะมีประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีก 1,200 ครัวเรือน จึงส่งผลต่อพื้นที่เกษตรกรรมลดลง จากเดิมมี 2 แสนไร่ เหลือประมาณ 1 แสนไร่

ส่วน อ.บางใหญ่ ได้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญเติบโต หลังมีศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต อิเกีย และคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ และในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มารองรับ นอกจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน จะมีสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี จะมีการนำสายไฟฟ้า สายเคเบิล สายสื่อสารลงใต้ดินตลอดแนว จาก ถ.ติวานนท์ ถึง ถ.แจ้งวัฒนะ ระยะทางประมาณ 10 กม. อีกทั้งยังมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำ ส่วนต่อขยายถนนเชื่อมต่อสะพานนนทบุรี 1 ถึง ถ.กาญจนาภิเษก โครงการต่อขยายถนนเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา

“ขณะเดียวกันได้มีการอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมที่มีความสำคัญไว้ ได้แก่ สวนทุเรียน เพื่อเป็นเอกลักษณ์และปอดของเมือง”

นนทบุรีเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี

สำหรับการปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับใหม่ กำหนดให้ จ.นนทบุรี เป็นเมืองรองรับการขยายตัวจากกรุงเทพฯ ทางด้านที่อยู่อาศัย เป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี และเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์กลางด้านการบริหาร การค้าและบริการ

กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคต 14 ประเภท ให้สอดคล้องกับผังเมืองรวม กทม. โดยมีการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกเป็นการปรับปรุงตามศักยภาพของพื้นที่และแนวโน้มการพัฒนา แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงได้แก่ 1.บริเวณไทรน้อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (อ.1) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ 2 (อ.2) เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปขยะ และพื้นที่ชุมชนพักอาศัย 2.บริเวณเมืองนนทบุรีฝั่งตะวันตก เป็นกลุ่มที่เจริญเติบโตมาจากการอยู่อาศัย จึงกำหนดเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการคมนาคม

3.บริเวณเมืองนนทบุรีฝั่งตะวันออก กำหนดเป็นประเภทที่อยู่อาศัย จึงเพิ่มความหนาแน่นของพื้นที่ให้มากขึ้น 4.บริเวณคลองอ้อมนนท์ เป็นพื้นที่อนุรักษ์สวนทุเรียน 5.บริเวณบางใหญ่-ศาลากลาง เป็นแหล่งที่พักอาศัยและสถานศึกษา จะควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่บริเวณด้านล่างติดกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จะสามารถขยายพื้นที่ได้ และ 6.บริเวณบางกรวยอยู่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ทำให้มีการขยายตัวของพื้นที่

ปรับใช้ประโยชน์ที่ดิน 17 บริเวณ

ส่วนที่ 2 จะเป็นการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามข้อเท็จจริง มี 17 บริเวณ ได้แก่ 1.ปรับปรุงที่ดินสีน้ำเงิน ประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ 11 บริเวณ

2.ปรับปรุงที่ดินสีเขียวมะกอก ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา 1 บริเวณ และ 3.ปรับปรุงที่ดินสีน้ำตาลอ่อน ที่ดินประเภทอนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย 5 บริเวณ

สำหรับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้มีการปรับให้สอดคล้องกับผังเมืองรวม กทม. นำ FAR หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน และ OSR หรืออัตราส่วนของที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวมมาใช้เนื่องจากมีรถไฟฟ้า 3 สายพาดผ่าน คือ สีม่วง สีชมพู และสีแดง การใช้ประโยชน์ที่ดินจะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ที่มีทั้งคอนโดมิเนียมและศูนย์การค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้น

บูม 500 เมตรสถานีรถไฟฟ้า

โดย FAR บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้ารัศมี 500 เมตร จะกำหนดเช่นเดียวกับผังเมือง กทม. มีขนาดถนนเป็นเงื่อนไขการพัฒนา ป้องกันการพัฒนาที่อยู่อาศัยมีผลกระทบต่อการจราจร

มีพื้นที่จะเปลี่ยนแปลง อาทิ แนวสายสีม่วงมี 13 สถานี ได้แก่ คลองบางไผ่ ตลาดบางใหญ่ สามแยกบางใหญ่ บางพลู บางรักใหญ่ ท่าอิฐ ไทรม้า สะพานพระนั่งเกล้า แยกนนทบุรี 1 ศรีพรสวรรค์ ศูนย์ราชการนนทบุรี กระทรวงสาธารณสุข และแยกติวานนท์ จากเดิมสีเหลือง ย.1-ย.3 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) และสีส้ม ย.4-ย.6 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) จะปรับเป็นสีน้ำตาล ย.7-ย.8 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เป็นต้น

ส่วนแนวสายสีชมพูจากแยกแคราย-ถนนประชาชื่น มี 10 สถานี ได้แก่ ศูนย์ราชการนนทบุรี แคราย สนามบินน้ำ สามัคคี ชลประทาน ปากเกร็ด เลี่ยงเมืองปากเกร็ด แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 เมืองทองธานี และศรีรัช ซึ่งพื้นที่จากแคราย-หน้าเมืองทองธานี จะปรับสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล และช่วงเมืองทองธานี-คลองประปา ปรับสีเหลืองเป็นสีส้ม นอกจากนี้มีปรับพื้นที่เทศบาลศาลากลาง อ.บางกรวย จากสีเหลืองเป็นสีส้ม รับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

“พื้นที่ได้ FAR สูงสูด 8 : 1 เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมสีแดง พ.4 ย่านงามวงศ์วาน เมืองทองธานี ถนนรัตนาธิเบศร์ช่วงศูนย์การค้าเซ็นทรัล และติวานนท์” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สำหรับการวางผังป้องกันพื้นที่น้ำท่วม จะห้ามสร้างบ้านจัดสรรในพื้นที่น้ำหลาก ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่คลองตาชุม-คลองบางใหญ่