10 พ.ย. วางศิลาฤกษ์ “สนามบินเบตง” ปลุก ศก.-ท่องเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้

หลังรอคอยมากว่า 20 ปี ในที่สุดคน จ.ยะลา จะมีสนามบินให้บริการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังจาก “กรมท่าอากาศยาน” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทุ่มเม็ดเงินกว่า 1.6 พันล้านบาท ก่อสร้างสนามบินพาณิชย์ที่ อ.เบตง ประตูการค้าสำคัญของภาคใต้เชื่อมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ปักหมุดพื้นที่ 920 ไร่ ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซียประมาณ 15 กม. อยู่ฝั่งตรงข้ามสนามบินเดิมที่กองทัพอากาศได้ก่อสร้างไว้เมื่อปี 2515

ขณะนี้ “กรมท่าอากาศยาน” เริ่มเปิดหน้าดินเดินหน้าก่อสร้างตามสัญญาเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2559 มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ

“ดรุณ แสงฉาย” อธิบดีกรมท่าอากาศยาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันโครงการพัฒนาสนามบินเบตง ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ล่าสุดมีความก้าวหน้า ณ วันที่ 25 ต.ค. 2560 อยู่ที่ 26.685% เร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ 14.05%

ตามแผนผู้รับเหมาจะต้องก่อสร้างให้เสร็จภายในปี 2562 พร้อมเปิดให้บริการประมาณต้นปี 2563 ซึ่งวันที่ 10 พ.ย.นี้กรมจะจัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการ มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน

“ตอนนี้ผู้รับเหมากำลังปรับหน้าดิน จะมีการขุดดินและถมดินประมาณ 2 ล้านคิว จากนั้นปีหน้าจะเริ่มงานฐานรากและก่อสร้างโครงสร้างอาคาร”

สำหรับรายละเอียดการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ส่วน งานส่วนแรก วงเงิน 1,316 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางวิ่ง 1 ทางวิ่ง ความยาว 1.8 กม. งานก่อสร้างทางขับ งานก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน 3 ลำ เริ่มงานก่อสร้างตามสัญญาวันที่ 28 ต.ค. 2559 ถึงวันที่ 15 ก.ค. 2562 ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร มีขนาดพื้นที่ 7,000 ตร.ม. จำนวน 1 หลัง วงเงิน 338 ล้านบาท จะรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง เริ่มงานตามสัญญาวันที่ 30 มี.ค. 2560 ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2562

“สนามบินเบตง จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้งจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียง เมื่อก่อนเดินทางจากหาดใหญ่ไปเบตงใช้เวลา 4 ชั่วโมง เพราะเป็นหุบเขาทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ลำบาก ทั้งที่พื้นที่เป็นจุดเศรษฐกิจสำคัญ ถึงจะเป็นเขตพื้นที่เข้าถึงยาก แต่มีศักยภาพด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว”

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียที่จะบินมาท่องเที่ยวภาคใต้ หรือเพื่อใช้เป็นจุดต่อเชื่อมการเดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เนื่องจากสนามบินห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซียเพียง 15 กม.

นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เชื่อมโยงกับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ