คิกออฟ “ระบบ M-Flow” ไม่จ่ายปรับ 10 เท่า ขึ้นแบล็กลิสต์

หลัง “ทล.-กรมทางหลวง” ผลักดันนโยบายของ รมว.คมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ปรับสปีดบนท้องถนนช่องขวาสุด วิ่งด้วย “ความเร็ว 120 กม./ชม.”

จนสามารถกดปุ่มคิกออฟไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ประเดิม 50 กม.แรก ถนนสายเอเชียช่วง “บางปะอิน-อ่างทอง” และเตรียมขยายไปยัง 25 สายทั่วประเทศปลายปีนี้

ล่าสุดรอลุ้น “ระบบ M-Flow” หรือระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น กำลังจะเปิดทดลองใช้ภายในเดือน ก.ค. 2564 นำร่อง “ด่านทับช้างและธัญบุรี” มอเตอร์เวย์สาย 9 (ถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันออก)

เริ่มทดสอบระบบ-ใช้จริง ก.ค.นี้

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า การเปิดใช้ระบบ M-Flow รอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการบริหารติดตั้ง ตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์ คาดว่าปลายเดือน เม.ย.นี้จะเซ็นสัญญา หลังจากนั้นอีก 3 เดือนจะติดตั้งกล้อง จูนระบบ และทดสอบระบบในช่วงต้นเดือน ก.ค. และเริ่มเปิดใช้จริงปลายเดือน ก.ค.นี้

“ระหว่างรอ กรมอยู่ระหว่างทำข้อมูลรายละเอียดเงื่อนไขการใช้งาน และแนวทางปฏิบัติกรณีไม่จ่ายค่าผ่านทาง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบต่อไป เพราะเป็นระบบใหม่”

นายสราวุธกล่าวอีกว่า ในช่วงแรกเพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจกับประชาชนผู้ใช้ทาง จะกำหนดให้มีช่องทางวิ่งเฉพาะสำหรับระบบ M-Flow แยกออกจากช่องเก็บเงินสดและช่องเก็บเงินด้วยบัตรอัตโนมัติ M-Pass หรือ Easy Pass ที่จะยังคงเปิดให้ใช้งานได้เพียงบางส่วนควบคู่ไปกับช่อง M-Flow

สมัครสมาชิก-จ่ายเงินง่าย

“กรมจะเปิดให้ผู้ที่ต้องการจ่ายค่าผ่านทางด้วยระบบ M-Flow จะต้องลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตน รวมถึงลงทะเบียนข้อมูลและเลขทะเบียนของรถยนต์ และแสดงเจตนายินยอมชำระค่าผ่านทางจากการใช้รถยนต์ดังกล่าว รวมถึงการเลือกวิธีชำระเงินและรูปแบบการชำระเงินที่ประสงค์จะใช้บริการตามเงื่อนไขที่กรมกำหนด”

สำหรับระบบ M-Flow เป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานสากล อาศัยเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบการอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ ร่วมกับระบบการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ เพื่อใช้ตรวจสอบยานพาหนะและระบุตัวตนผู้ใช้ทาง

โดยผู้ใช้รถยนต์สามารถขับขี่ผ่านบริเวณด่านที่จะมีการติดตั้งโครงเสาแขวนสูงเหนือศีรษะ พร้อมอุปกรณ์ระบบตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ และระบบการจำแนกประเภทยานพาหนะอัตโนมัติ ได้สะดวกรวดเร็วโดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ

จากนั้นอุปกรณ์ระบบจะส่งข้อมูลไปประมวลผลและตรวจสอบความถูกต้องที่ระบบงานหลังบ้าน เพื่อสร้างรายการผ่านทางและแจ้งเรียกเก็บค่าผ่านทางไปยังผู้ใช้บริการผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Billing) ซึ่งระบบ M-Flow ได้ออกแบบให้รองรับการใช้งานสำหรับรถยนต์ทุกชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้บนมอเตอร์เวย์ ทั้งรถ 4 ล้อ 6 ล้อ และมากกว่า 6 ล้อ

สำหรับวิธีการชำระเงินค่าผ่านทาง สามารถเลือกชำระเป็นรายครั้งหรือชำระตามรอบบิล และผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ผ่านเว็บไซต์หรือโมบายแอปพลิเคชั่นของระบบ M-Flow บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต การชำระเงินด้วยการสแกน QR code ผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นของธนาคาร จ่ายเงินผ่านตู้ ATM หรือเคาน์เตอร์ตัวแทนให้บริการ เป็นต้น หรือจะเป็นรูปแบบการชำระเงินผ่านบริการอัตโนมัติที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น ตัดเงินผ่านบัญชีธนาคารอัตโนมัติ ผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตอัตโนมัติ หรือจากบัญชีเติมเงินของระบบ M-Pass และ Easy Pass แบบอัตโนมัติ

เปิดมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืน

ทั้งนี้ จะมีมาตรการบังคับสำหรับผู้หลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าผ่านทาง โดยจะให้สามารถค้างชำระได้ 2 วัน เกินจากนี้จะมีมาตรการดำเนินการตามกฎหมาย ในระยะเร่งด่วน มาตรการภายใน 30 วันแรก นับถัดจากวันที่ครบกำหนดเวลาชำระค่าผ่านทาง กรมจะส่งหนังสือติดตามทวงถามไปยังผู้ใช้บริการหรือเจ้าของรถที่วิ่งผ่านช่องทางระบบ M-Flow และไม่ชำระค่าผ่านทาง เพื่อให้มาชี้แจงหรือแสดงหลักฐานและให้ชำระค่าผ่านทางและค่าปรับ โดยจะส่งหนังสือทวงถาม 2 ครั้ง

และมาตรการหลัง 30 วัน จะมีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2477 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานส่งให้พนักงานสอบสวน เพื่อให้เจ้าพนักงานออกหมายเรียกและขออนุมัติศาลออกหมายจับและส่งฟ้องศาลต่อไป จะมีการขึ้นบัญชีดำ และเรียกให้หยุดหากตรวจพบเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และการเรียกให้ชำระค่าผ่านทางและค่าปรับในขั้นตอนชำระภาษีรถยนต์ประจำปี

โดยเป็นมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากบทลงโทษตาม พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497 กำหนดให้การหลีกเลี่ยงไม่จ่ายค่าธรรมเนียมเป็นการกระทำที่เป็นความผิดอาญา มีอัตราโทษปรับสถานเดียว เป็นจำนวน 10 เท่าของอัตราค่าผ่านทาง และระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

เร่งยกระดับความเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม “กรมทางหลวง” จะยกระดับมาตรการให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการจัดจราจรทางบกกลาง (คจร.) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พิจารณาให้ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม ในการบูรณาการด้านการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใช้รถที่ไม่จ่ายค่าผ่านทางของระบบ M-Flow

หรือกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ M-Flow และดำเนินมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการกับยานพาหนะที่ผิดกฎหมาย เช่น รถติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอม รถที่ปกปิดหรือดัดแปลงป้ายทะเบียน รถสวมทะเบียน รถป้ายแดง เป็นต้น

มอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บูรณาการร่วมกันศึกษาแนวทางและดำเนินมาตรการอื่นเพิ่มเติม

รวมถึงดำเนินการออกกฎระเบียบหรือการแก้ไขกฎระเบียบที่จำเป็น เพื่อให้การดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าผ่านทางของระบบ M-Flow เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติในสากล

เช่น เพิ่มอัตราโทษปรับและกำหนดโครงสร้างอัตราโทษปรับในลักษณะขั้นบันได กำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนไม่จ่ายค่าผ่านทางมีผลกับการต่อทะเบียนรถยนต์ หรือใบอนุญาตขับขี่ หรือมีผลต่อการได้รับการอนุญาตให้ใช้มอเตอร์เวย์ หรือทางด่วน กำหนดบทลงโทษกับรถยนต์ที่เจตนาปกปิดหรือดัดแปลงป้ายทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของกล้องอ่านป้ายทะเบียนในการเรียกเก็บหรือติดตามให้ชำระค่าผ่านทาง เพิ่มมาตรการบทลงโทษกับผู้กระทำความผิดซ้ำจนเคยชิน เป็นต้น