เอสซีจี เซรามิกส์โชว์ไตรมาส 1/64 ยอดขาย 2.8 พันล้าน คว้ากำไรโต 8%

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยว่า

ผลดำเนินการไตรมาส 1/64 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,806 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายเพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีกำไรสำหรับงวด 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น  และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

“ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ มีผลทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศสูงขึ้นและทำให้สินค้าจากจีนรวมทั้งกระเบื้องเซรามิกนำเข้ามีราคาสูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการภายในประเทศโดยเฉพาะโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างจึงเลือกที่จะสต็อกสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับการที่บริษัทฯมีแหล่งนำเข้าสินค้ากระเบื้องเซรามิกจากหลากหลายประเทศทำให้สินค้ากระเบื้องเซรามิกนำเข้าของบริษัทฯ มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น จึงได้รับความไว้วางใจและได้รับการสนับสนุนในฐานะผู้ผลิตและผู้นำเข้ากระเบื้องเซรามิกรายใหญ่ลำดับต้น ของประเทศ ขณะที่บริษัทฯได้ให้ความสำคัญกับโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้าง ทั้งในฐานะที่เป็นลูกค้าและเป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญของบริษัทฯด้วย มีผลทำให้ยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ จากการที่ภาครัฐหนุนให้โครงการของรัฐจัดซื้อจัดจ้างจากพัสดุในประเทศมากขึ้นไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่ใช้ ยังเป็นผลดีต่อผู้แทนจำหน่ายคู่ค้าสำคัญซึ่งเป็นร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีฐานลูกค้างานภาครัฐและภาคเอกชนรายใหญ่ด้วย” นายนำพล กล่าว

สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในระยะสั้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเมษายน ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ นายนำพล เปิดเผยว่า การที่ทางภาครัฐได้มีการประกาศใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในประเทศมีผลกระทบกับผู้บริโภคโดยทั่วไปและบริษัทฯ ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความพร้อมและได้เตรียมการรับมือแล้ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 1 ปี ได้มีการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอด จึงมั่นใจว่าจะสามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจในจุดแข็งเรื่องช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย ร่วมกับประสบการณ์ในการบริหารจัดการช่องทางจัดจำหน่ายแต่ละรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ไม่ว่าจะเป็นร้านผู้แทนจำหน่าย ร้านโมเดิร์นเทรด คลังเซรามิค COTTO Life ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งแต่ละช่องทางต่างมีจุดเด่นที่จะตอบสนองความต้องการและเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมและสามารถเติมเต็มการให้บริการครบวงจร คาดว่าจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มาก เนื่องจากผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงสินค้าของบริษัทฯ จากหลากหลายช่องทางได้อย่างสะดวกสบายเหมือนภาวะปกติ

“บริษัทฯ พยายามที่จะหาโอกาสสร้างยอดขายผ่านช่องทางที่หลากหลายและผสมผสานระหว่างหน้าร้านสาขาและช่องทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น ร้านผู้แทนจำหน่าย ร้านค้าปลีก ร้านค้าช่วง โมเดิร์นเทรด และ COTTO Life ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะเข้าถึงและซื้อสินค้าได้สะดวกมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยและลดความกังวลจากการติดเชื้อในสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ด้วย”

ในส่วนของหน้าร้าน เช่น คลังเซรามิค เป็นร้านที่มีลักษณะเปิดโล่งในพื้นที่กว้างขวาง โดยมีพื้นที่ของแต่ละสาขามากกว่า 1,000 ตารางเมตร ซึ่งลูกค้าสามารถรักษาระยะห่าง Social Distancing ได้อย่างปลอดภัยแน่นอน ที่สำคัญพนักงานทุกคนได้รับการอบรมเรื่องขั้นตอนการบริการและมาตรการปฏิบัติตนเพื่อดูแลตนเองและลูกค้าให้ปลอดภัยจากโควิด-19  นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มบริการชำระเงินแบบไร้การสัมผัส  ทั้งการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคารหรือคิวอาร์โค้ด ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้นด้วย

ปัจจุบันโชว์รูม “คลังเซรามิค” มีจำนวนทั้งหมด 47 สาขา กระจายอยู่ตามพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยบริษัทฯ ยังคงเร่งขยายสาขาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานโดยเพิ่มเติมการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารออนไลน์เข้ามาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า ช่วยให้สามารถบริหารจัดการช่องทางจัดจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ล่าสุด บริษัทฯ ได้ทดลองเพิ่มรูปแบบกิจกรรมการขายสินค้าให้กับกลุ่มผู้แทนจำหน่ายเป็นการสั่งจองและขายสินค้าผ่านการ Live ทางเฟซบุ๊ก ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจมาก ถือเป็นการปรับกระบวนการทำงานภายใน ระหว่างบริษัทและผู้แทนจำหน่ายซึ่งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เพิ่มความรวดเร็วและความต่อเนื่องในการติดต่อซื้อขายระหว่างกันในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด” นายนำพล กล่าว

“คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะยังคงส่งผลต่อทั้งระบบเศรษฐกิจไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีหลายปัจจัยที่ควรเฝ้าระวัง เช่น แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อ และสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ โดยมองว่าในปี 2564 คาดว่ายังมีการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของการอยู่อาศัยจริง และมาจากความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จะยังคงมีสินค้าที่น่าจะได้รับผลเชิงบวก คือ กลุ่มสินค้าโครงสร้างรวมทั้งกลุ่มสินค้าตกแต่ง เช่น กระเบื้อง สุขภัณฑ์ เชื่อว่าในช่วงสั้น ๆ สถานการณ์ตลาดในประเทศจะยังทรงตัวในลักษณะนี้ต่อไป โดยอาจจะมีปัจจัยหนุน คือ แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของทางภาครัฐ” นายนำพล กล่าวสรุป