หน้าฝนรัฐเร่งรับมือน้ำท่วม-โคลนถล่ม คนกรุงเช็กด่วน 8 เขต 12 จุดเสี่ยงถนนสายหลัก

2 หน่วยงานหลักตื่นตัวรับมือน้ำท่วม น้ำหลาก โคลนถล่มช่วงหน้าฝน พยากรณ์ปีนี้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่แล้ว 5-10% “กทม.” เปิดโพยคนกรุง 50 เขต มีจุดเสี่ยงสูงปัญหาน้ำท่วมขัง 8 เขต 12 ถนนสายหลัก ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ซ่อมรูรั่ว-น้ำซึม อ้อนขอโควตาฉีดวัคซีนให้กับผู้ปฏิบัติงาน 3,000-4,000 คน “กรมทางหลวง” ยกระดับแผนรับมือ 4 ขั้นตอน สั่งเตรียมอุปกรณ์พร้อมตั้งแต่ป้าย knock down ยันสะพานเบลีย์/สะพานเหล็กชั่วคราวกรณีทางขาด

ปริมาณน้ำปี’64 เพิ่ม 5-10%

นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.โดยสำนักการระบายน้ำได้เตรียมแผนบริหารจัดการสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุนจากการเข้าสู่ฤดูฝนประจำปี 2564 แล้ว โดยคาดว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าปี 2563 ไม่น้อยกว่า 5-10% โดยในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 คาดว่ามีฝนตกชุกหนาแน่น 60-80% ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่

สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หน้าฝน เบื้องต้น กทม.อยู่ระหว่างการตรวจสอบและซ่อมแซมจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 78.93 กม. พร้อมเรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวรและเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมที่มีระดับต่ำ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมพื้นที่ต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำให้พร้อมใช้งานทุกสถานี ลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในระดับต่ำ

ขอวัคซีนฉีดหน้างาน 4 พันคน

ส่วนปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยอมรับว่ามีผลกระทบกับการปฏิบัติงานค่อนข้างมาก โดยสำนักการระบายน้ำเตรียมเสนอ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอจัดสรรวัคซีนบางส่วนเพื่อฉีดให้พนักงานระดับปฏิบัติการทั้งสิ้น 3,000-4,000 คน ในเร็ว ๆ นี้

“ด้วยอายุและวัยของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการหน้างานทำให้ต้องรอโควตาการฉีดวัคซีนจากรัฐบาลในช่วงหลังเดือนกรกฎาคม ในขณะที่การปฏิบัติงานต้องเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้น ต้องนำเสนอต่อผู้ว่าราชการ กทม.พิจารณาจัดสรรโควตาวัคซีนในโควตาความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป”

เปิด 12 จุดเสี่ยง 8 เขตทั่วกรุง

สำหรับพื้นที่จุดเสี่ยงที่ กทม.เฝ้าระวังมีทั้งสิ้น 12 จุด กระจายใน 8 เขตด้วยกัน ประกอบด้วย พื้นที่ฝั่งพระนคร 9 จุด และพื้นที่ฝั่งธนบุรี 3 จุด (ดูตารางประกอบ) รายละเอียด ดังนี้

ฝั่งพระนครมี 6 เขต 1.เขตจตุจักร 1 จุด ช่วงถนนรัชดาภิเษกหน้าธนาคารกรุงเทพ 2.เขตบางซื่อ 1 จุด ช่วงถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน 3.เขตหลักสี่ 1 จุด ช่วงถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่คลองประปา-คลองเปรมประชากร 4.เขตดุสิต 1 จุด ช่วงถนนราชวิถี ตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิต-เชิงสะพานกรุงธน

5.เขตราชเทวี 2 จุด จุดแรก ถนนพญาไทบริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ และจุดที่ 2 ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลพญาไท และ 6.เขตสาทร 3 จุด โดยจุดแรก ถนนจันทน์ ตั้งแต่ซอยบำเพ็ญกุศล-ที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา, จุดที่ 2 ถนนสวนพลู ตั้งแต่ถนนสาทรใต้-ถนนนางลิ้นจี่ และจุดที่ 3 ถนนสาธุประดิษฐ์ ช่วงแยกตัดถนนจันทน์

ฝั่งธนบุรีมี 2 เขต ได้แก่ 1.เขตบางขุนเทียน ช่วงถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ตั้งแต่ถนนพระราม 2-คลองสะแกงาม และ 2.เขตบางแค 2 จุด แบ่งเป็น จุดแรก ถนนเพชรเกษม ตั้งแต่คลองทวีวัฒนา-คลองราชมนตรี และจุดที่ 2 ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่ช่วงถนนเพชรเกษม-วงเวียนกาญจนาภิเษก

สแกน 17 โครงการระบายน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในการประชุมเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝน ในที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำได้รายงานความคืบหน้าแผนงานโครงการที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการจัดการน้ำในปี 2564 รวม 17 โครงการ แบ่งได้ 5 แผนงาน ประกอบด้วย

1.แผนงานก่อสร้างบ่อสูบน้ำ 5 แห่ง ได้แก่ 1.1 บ่อสูบน้ำสังคโลก ตอนลงแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2564 1.2 บ่อสูบน้ำถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ตอนลงคลองสะแกงาม คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2564 1.3 บ่อสูบน้ำถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้า-ขาออก ตอนคลองบางบัวทิศเหนือ กำหนดแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2564

1.4 บ่อสูบน้ำถนนเอกชัย ตอนลงคลองราชมนตรี กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564 และ 1.5 โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสุวินทวงศ์ กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2564

2.แผนงานก่อสร้างและปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 7 แห่ง ได้แก่ 2.1 เพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำหน้า สน.หัวหมาก กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564 2.2 เพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำคลองจิก กำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2564 2.3 เพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำคลองห้วยขวาง กำหนดแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 2.4 ปรับปรุงสถานีสูบน้ำข้าง มศว ตอนคลองแสนแสบ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564

ปรับ 2 แก้มลิงศาสตร์พระราชา

2.5 ปรับปรุงสถานีสูบน้ำปลายคลองสวัสดี ตอนคลองแสนแสบ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 2.6 ปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองพร้อมศรี 2 ตอนคลองแสนแสบ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 และ 2.7 เพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำคลองจิก กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564

3.แผนงานก่อสร้างและปรับปรุงระบบแก้มลิงอิงศาสตร์พระราชา 2 แห่ง ได้แก่ 3.1 ปรับปรุงแก้มลิงพิบูลย์ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 และ 3.2 ก่อสร้างแก้มลิงสวนเบญจกิติ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564

4.แผนงานก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำ (water bank) 2 แห่ง ได้แก่ 4.1 ก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกช่วงตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต กำหนดแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 และ 4.2 ก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินในที่ดินสาธารณะ บริเวณสะพานต่างระดับถนนศรีนครินทร์กับถนนกรุงเทพกรีฑา กำหนดแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2564

5.แผนงานก่อสร้างดันท่อระบบ (pipe jacking) พร้อมบ่อสูบน้ำ 1 แห่ง คือ โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนจันทน์ กำหนดแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564

ทางหลวงเซต 4 ขั้นตอน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ประกอบด้วย สำนักงานทางหลวง ศูนย์สร้างทาง ศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องจักรตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้กับประชาชน ดังนี้

1.ตรวจสอบสภาพความเรียบร้อยของผิวทาง ต้องไม่มีหลุมบ่อ, สำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ สะพาน ท่อระบบน้ำ ร่องน้ำในเขตทางให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน และดำเนินการขุดลอกร่องระบายบริเวณสองข้างทาง ทำความสะอาดช่องทางระบายน้ำ กำจัดเศษขยะวัชพืชมิให้กีดขวางทางระบบน้ำ ตัดแต่งกิ่งไม้ และจัดเตรียมเครื่องจักร ยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ สิ่งอำนวยความปลอดภัยป้ายจราจร หรือป้าย knock down ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง ไฟกะพริบ ฯลฯ ให้สามารถใช้งานได้ทันที เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ

2.สำหรับในกรณีเมื่อเกิดภัยพิบัติให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น

3.เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ให้ผู้บริหารในพื้นที่เข้าไปดำเนินแก้ไขปัญหาทันที และรายงานผู้บริหารในส่วนกลางจนกว่าเหตุการณ์จะยุติ ทั้งนี้ กรณีเกิดเหตุทางขาด สะพานขาดหรือชำรุด ให้ขอความร่วมมือจากศูนย์สร้างทาง ศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน เพื่อขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เครื่องจักรและสะพานเบลีย์ (สะพานเหล็กชั่วคราว) ให้เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับแขวงทางหลวงโดยทันที

4.ให้ทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังและรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าระบบบริหารงานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉินของกรมทางหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะปกติ รวมถึงให้ติดตามการเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกรณีเกิดภัยพิบัติให้ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักร ยานพาหนะ กรณีมีการร้องขอจากหน่วยงานอื่น ๆ หรือประชาชน พร้อมขอให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางหลวงเดินทางด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่คาดว่าจะเกิดความสุ่มเสี่ยง

ที่สำคัญ ขอความร่วมมือผู้ใช้เส้นทางให้ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586