กฎหมายใหม่ป่วนธุรกิจเวลเนส สอบไลเซนส์ออนไลน์ล่ม-5 วิชาชีพสอบตกยกแผง

กระทรวงสาธารณสุขรับศึก 2 ด้าน โควิดยังคุกรุ่น ล่าสุดนโยบายโปรโมตไทยเป็นเมดิคอลฮับสะดุดตั้งแต่ยกแรก “ชมรมกลุ่มธุรกิจเวลเนส” เผยกฎหมายใหม่บังคับสอบใบอนุญาตทำกิจการดูแลผู้สูงวัย ลอตแรก 5 วิชาชีพ “หมอ พยาบาล เภสัช สาธารณสุข” 2,137 คน สอบผ่านแค่ 166 คน สัดส่วนแค่ 7% โวยแหลก การประกาศผลค้านสายตา มั่นใจสอบผ่าน 100% ชี้เป้าขั้นตอนสมัคร-รับส่งข้อมูลจนถึงประกาศผลผ่านออนไลน์ของ “กรมบริการสุขภาพ” มีจุดรั่วออนไลน์ล่ม ทำหนังสือขอเข้าพบหน่วยงานเพื่อหารือหาทางออก

การนับถอยหลังเข้าสู่เทรนด์สังคมประชากรผู้สูงวัยของประเทศไทยทำให้รัฐบาลต้องจัดระเบียบการทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุอีกครั้ง โดยมีการออกกฎหมายใหม่มาบังคับใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ไฮไลต์มีข้อบังคับเรื่องการขอใบอนุญาตทำกิจการเวลเนส หรือกิจการดูแลผู้สูงอายุเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ปรากฏว่าการสอบครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นรอบพิเศษเพราะผู้สมัครเป็นกลุ่มวิชาชีพจาก 5 สาขา แต่มีผู้ผ่านการสอบเพียง 166 คน จากจำนวนผู้สมัครทั่วประเทศ 2,137 คน นำไปสู่การร้องเรียนถึงความไม่มีประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครสอบในกลุ่มวิชาชีพ 5 สาขาดังกล่าว

กฎหมายใหม่เดดไลน์ 27 ก.ค. 64

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจเวลเนสในต่างจังหวัดเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างจัดระเบียบธุรกิจเวลเนส ความคืบหน้ามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 27 มกราคม 2564

ประเด็นที่เกิดขึ้น กฎหมายใหม่มีสภาพบังคับให้คนทำงานในธุรกิจเวลเนสต้องมีการขอใบอนุญาต (license) ภายใน 180 วัน หรือภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 โดยใบอนุญาตมี 2 ระดับ คือใบอนุญาตผู้ดำเนินการ (health care manager) กับใบอนุญาตผู้ให้บริการ (care giver) นั่นหมายความว่า หากไม่มีใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข กิจการเวลเนสนอกโรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็กจะกลายเป็นธุรกิจเถื่อนโดยผลของกฎหมาย ซึ่งมีบทลงโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงกิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 จำนวน 3 ฉบับ สาระสำคัญกฎกระทรวงฉบับที่ 1 กำหนดให้กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ แนวทางปฏิบัติ ผู้ประกอบกิจการ (เจ้าของ) และผู้ปฏิบัติงาน (care giver) จะต้องขอรับใบอนุญาตจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยต้องดำเนินการภายใน 180 วัน นับจากวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ นิยาม “กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง” หรือกิจการเวลเนส ระบุเป็นกิจการที่ดำเนินการนอกสถานพยาบาล แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ 2.1 การบริการดูแลระหว่างวัน มีการจัดกิจกรรมดูแล ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพโดยไม่มีการพักค้างคืน 2.2 การดูแลและบริการแบบพักค้างคืน 2.3 บริการดูแลและประคับประคองและมีการพักค้างคืน

กฎกระทรวงฉบับที่ 2 กำหนดครอบคลุมการกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย การให้บริการ และกฎกระทรวงฉบับที่ 3 กำหนดค่าธรรมเนียม สำหรับประเภทพักค้างคืน แบ่งเป็นพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ฉบับละ 1,000 บาท, พื้นที่ 100-200 ตารางเมตร ฉบับละ 3,000 บาท, พื้นที่ 200-400 ตารางเมตร ฉบับละ 6,000 บาท และพื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร ฉบับละ 10,000 บาท

5 วิชาชีพสมัคร 2.1 พันคน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขั้นตอนปฏิบัติทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีการเปิดรับสมัครและสอบข้อเขียนโดยระบบการสอบออนไลน์ (ดูตารางประกอบ) และเนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดระเบียบธุรกิจเวลเนส การเตรียมความพร้อมของภาครัฐอาจไม่สมบูรณ์ 100% โฟกัสปัญหาจากการสอบใบอนุญาต health care manager ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็กดังนั้นเจ้าของจึงเป็นผู้ประกอบการเอง

วิธีการสอบ สบส.แบ่งผู้สมัครสอบเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มวิชาชีพจาก 5 สาขาที่เกี่ยวข้องในการบริการสุขภาพ ได้แก่ “แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เภสัชกร” สามารถสมัครสอบโดยไม่ต้องเข้าคอร์สอบรมด้านดูแลฟื้นฟูสุขภาพเพราะเป็นกลุ่มวิชาชีพอยู่แล้ว

2.บุคคลทั่วไป หากสนใจเข้าสู่อาชีพนี้ต้องเข้าอบรมหลักสูตรเวลเนสจากสถาบันอุดมศึกษา ปัจจุบันเปิดสอน 2 แห่ง ที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น จ.เชียงใหม่ กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยต้องมีชั่วโมงอบรม 130 ชั่วโมง ซึ่งประเมินแล้วการเปิดสอบใบอนุญาตในปี 2564 น่าจะมีแต่กลุ่มวิชาชีพ 5 สาขาที่เข้าเกณฑ์ผู้มีสิทธิสอบ

“กลุ่มวิชาชีพ 5 สาขาที่สมัครสอบครั้งแรก ทุกคนมั่นใจว่าสอบผ่าน 100% แน่นอน เพราะเกณฑ์ทดสอบต้องการคะแนนเพียง 60% แต่การประกาศผลสอบมีผู้สอบผ่านเพียง 166 คน จากผู้สมัคร 2,100 กว่าคน ทำให้ไม่สามารถยอมรับได้ สาเหตุหลักค่อนข้างมั่นใจว่ามาจากระบบออนไลน์ล่มในระหว่างทำการสอบซึ่งกำหนดเวลา 3 ชั่วโมง ดังนั้นจึงมีข้อกังขาในการตรวจข้อสอบและประกาศผลสอบในครั้งนี้”

จับตาสอบใหม่ 15 พ.ค. 64

ทั้งนี้ ทาง สบส.ได้ประกาศเปิดรับสมัครรอบที่ 2/2564 โดยมีมาตรการเยียวยาให้ผู้สมัครรอบที่ 1/2564 และคัดค้านผลสอบสามารถสอบใหม่ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเวลเนสรายกลาง-รายเล็กได้รวมตัวและทำหนังสือขอเข้าพบผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหาทางออกร่วมกัน เป้าหมายไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับการสอบครั้งแรกที่มีปัญหาระบบออนไลน์ล่ม กับไม่สามารถส่งกระดาษคำตอบได้ แต่ยังไม่ได้เข้าพบแต่อย่างใด

“ในฐานะตัวแทนผู้เดือดร้อนต้องเรียนว่า มีความร้อนใจและวิตกกังวลว่าการสอบครั้งที่ 2 ในวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2564 ซึ่งยังไม่ได้รับคำอธิบายชี้แจง และทราบมาว่าการสอบออนไลน์ยังทำเหมือนเดิมกับตอนสอบครั้งแรก จึงไม่มั่นใจว่าประสิทธิภาพการส่งข้อมูลจะบกพร่องจนทำให้เป็นผลเสียหายกับผู้เข้าสอบซึ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์ทั้งหมด” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ติดต่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมทางผู้บริหารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ได้รับคำชี้แจงว่า คณะผู้บริหารกรมกำลังประชุมเกี่ยวกับการสอบครั้งที่ 2/2564 พอดี จึงไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ในขณะนี้