CEO โรงพยาบาลวิมุต ชูโมเดลต่อยอดที่อยู่อาศัยพฤกษาฯ

สัมภาษณ์พิเศษ

1 พฤษภาคม 2564 ธุรกิจด้านสุขภาพของพฤกษาฯ “โรงพยาบาลวิมุต” เริ่มเปิดบริการเป็นทางการบนความตั้งใจของเจ้าพ่อพฤกษาฯ “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ที่ต้องการเซตอัพธุรกิจด้านสุขภาพเพื่อรองรับเทรนด์สังคมประชากรผู้สูงวัยของประเทศไทย โดยเม็ดเงินก้อนแรก 5,000 ล้านบาทลงทุนไปกับโปรเจ็กต์โรงพยาบาลวิมุต ทำเลที่ดีเวลอปเปอร์ต้องน้ำลายหกอยู่ข้าง ๆ สำนักงานใหญ่แบงก์ออมสินย่านสะพานควาย

ใช้เวลาดีไซน์และก่อสร้างนานกว่าปกติเล็กน้อย และไม่ว่าจะผ่านทีมเซตอัพมากี่คน ในที่สุดคีย์แมนที่รันโรงพยาบาลวิมุตจนจบและเปิดรับคนไข้คนแรกไปเมื่อวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ “หมอกฤต-นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” คุณหมอนักบริหารที่มีประสบการณ์อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพหลายแห่งในประเทศไทยและสาขาในกัมพูชา

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “หมอกฤต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด ถึงมุมมองธุรกิจด้านสุขภาพที่จะเข้ามาต่อยอดให้กับธุรกิจที่อยู่อาศัยของพฤกษา เรียลเอสเตทในอนาคต

Q : โปรเจ็กต์นี้ลงทุนเท่าไหร่

4,950 ล้านบาท ค่าที่ดิน 900 กว่าล้านบาท ก่อสร้างอาคาร 2,000 ล้านเศษ สัดส่วนการลงทุนผมว่าก็โอเคนะ สมน้ำสมเนื้อ เจตนารมณ์คุณทองมา (วิจิตรพงศ์พันธุ์) ต้องการให้เป็นทางเลือกสำหรับกำลังซื้อระดับกลาง ค่าใช้จ่ายไม่แพง ฟาซิลิตี้โครงสร้าง อุปกรณ์การแพทย์ และเทคโนโลยี ตัวโรงพยาบาลดีไซน์มินิมอล

นโยบายหลักที่ต้องการดูแลคนระดับกลาง เพราะฉะนั้น ก็ต้องมาดูตั้งแต่เรื่องการลงทุน จัดสัดส่วนให้พอเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการ ในเมื่อเราต้องการเน้นเรื่องการรักษาพยาบาล เราก็ไปดูเรื่องเครื่องมือแพทย์ ทีนี้ทุกวงการเป็นดิจิทัลเราก็ต้องไปลงเรื่องเทคโนโลยี เข้าใจว่าหลายร้อยล้านเพราะเป็นการลงทุนเดี่ยว (มีจุดเดียว)

Q : โครงสร้างการบริหารจัดการ

เรามีไทมิ่งโปรเจ็กต์ กะประมาณปีที่เปิด จัดตารางเรียบร้อยแล้วทั้งเรื่อง construction เท่าไหร่ก็คูณไป รวมบวกลบอินทีเรียร์เสร็จเรียบร้อย อีกส่วนคือเครื่องมือแพทย์ สั่งจากเมืองนอกกี่ปีมาถึงก็วางแผนไป แล้วก็เรื่องของไอทีก็เหมือนกันจะประมูลโปรแกรมอะไรมาใช้ เสร็จแล้วก็เอามา customize กับสายปฏิบัติ แล้วก็มาถึงคนทำงาน แพทย์ พยาบาล ฯลฯ ทั้งหมดเป็นตารางที่ต้องทำคู่กันไป ซึ่งถ้าเราลองเอาอะไรมาก่อนมาหลังจะเปลืองโดยใช่เหตุ

สำหรับแพทย์ประจำเราเปิดเป็นเฟส แต่ว่าสาขาหนึ่งมีครบ ทุกแผนกมี 1-2 คนก็พอแล้ว เพราะว่าใน 1 วัน 24 ชั่วโมงต้องมีคนอยู่เฝ้าโรงพยาบาล 1-2 คนในสาขาหนึ่ง ส่วนนอกเวลาหรือปริมาณที่เพิ่มก็เป็นลักษณะพาร์ตไทม์ หรือ consultant ผมว่าเป็นเทรนด์ของโรงพยาบาลในยุคต่อไป

Q : เป็นโรงพยาบาลใหม่ต้องทำการตลาดขนาดไหน

เยอะ พอดีคุณทองมาก็สนใจมากที่อยากจะให้แจ้งเกิดแล้วไปได้ดีเพราะเป็นโรงพยาบาลแรก ก็เลยพยายามจะสนับสนุนการสื่อสารการตลาด นำทีมมาจากฝั่งเรียลเอสเตต ส่วนหนึ่งมาศึกษาแล้วก็มาช่วยหาช่องทางการตลาด

เน้นทั้งออนไลน์แล้วต้องไฮทัชกับคนด้วย เพราะฉะนั้น รอบ ๆ โรงพยาบาลเรามีแผนทำให้เขาเป็นมิตรกับเราอยู่หลายแบบ ทำเลแถวนี้บริษัทใหญ่มีเยอะ กลุ่มลูกค้า 1.เราเน้นว่าใช้จ่ายระดับกลางก่อนก็คงเป็นกลุ่มที่เริ่มทำงาน ที่น่าสนใจคือกลุ่มอายุมาก ๆ แล้วก็มีการจ่ายเราก็คอนเซิร์นให้ใช้จ่ายระดับกลางพอ คราวนี้กลุ่มโรคฮิตทั่วไปคนก็จะสนใจว่าสมอง หัวใจ กระดูก ทางเดินอาหาร มะเร็ง ที่นี่เครื่องมือแพทย์เราโอเคแล้ว โรคยากผมไม่ค่อยกังวลอะไร

แต่ที่น่าสนใจกว่าเป็นเรื่อง long run โรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งหมายถึงกลุ่มโรคที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามพฤติกรรมของคน อายุยืนขึ้น พฤติกรรมของคนคือมี socialize มากขึ้น ก็จะมีกลุ่มโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคเครียดออฟฟิศซินโดรม เพราะฉะนั้น กลุ่มนี้จึงถือว่าเป็นเป้าหลัก

เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ถามว่าเราจะเน้นอะไรผมก็เลยต้องตอบทั้ง 2 ด้าน เพราะว่าความรับรู้ของคน เราเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิ รักษาโรคยาก รักษาโรคซับซ้อนได้ เช่น หัวใจ สมอง เรามีแพทย์แล้ว อุปกรณ์เครื่องมือเราทันสมัย แต่กลุ่มที่เราสนใจคือกลุ่มโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะเบาหวานและกลุ่มผู้สูงอายุ

ตลาดผู้สูงอายุคนไม่ค่อยทำ ผมก็เลยบอกว่าโปรโมชั่นเมมเบอร์ชิปทั้งหลายต้องทำให้ยั่งยืน เช่น สวัสดิการ อย่างพฤกษาฯพนักงานก็ได้สวัสดิการเยอะกว่าที่อื่นอยู่แล้ว ถ้ามารักษาที่นี่เหมือนกับ double ให้เขาไปเลย 15-20% เราให้พ่อแม่บวกอีก 10% อายุเกิน 60 ปีแสดงตนเป็นคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายของพนักงานเราให้ benefit ทันที

ทั้งนี้ เราบอกว่าถ้าแบ่งกันจ่าย 1.จ่ายเอง 2.ผ่านกรมธรรม์ประกันส่วนตัว 3.corporate benefit ซึ่งกลุ่มพนักงานที่อยู่ตามบริษัทเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ถ้าแบ่งตามวัยก็ต้องเจาะวัยทำงานไปจนกระทั่งถึงตาย เพราะเราจะไปเน้นผู้สูงอายุ

Q : ต่อยอดกับธุรกิจที่อยู่อาศัยยังไง

การดูแลรักษาถ้ามีระบบที่เขาไม่ต้องมาโรงพยาบาลจะดี เราก็ทำอย่างนั้นหมดเลย เราเปิดโรงพยาบาลนี้รักษาโรคเฉพาะหน้า เน้นกลุ่มโรคเรื้อรัง พยายามดูแลผู้สูงอายุ เรามีแพทย์เฉพาะทางที่จบเฉพาะทางผู้สูงอายุมาสร้างกระบวนการดูแลผู้ที่มีอายุ รวมทั้งกลุ่มโรคเรื้อรังเราร่วมกับโรงพยาบาลเทพธารินทร์มาด้วยเหตุผลนี้ เพื่อให้เทคโนโลยีความรู้ทั้งหมดมาใช้พร้อมกันได้ ใช้ดิจิทัลผสมเข้าไป

การที่จะให้คนอยู่บ้านได้รับการดูแลก็ใช้ระบบเทเลคอมมิวนิเคชั่นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเราจะไปเปิดเป็น community health care unit เหมือนโรงพยาบาลใหญ่ 1 โรงพยาบาลมี extension ออกไปในรัศมี 10 กิโลเมตร แต่ละจุดทำได้สัก 4 ที่ แต่ละที่ก็จะเป็นยูนิตที่มีพื้นที่ 1-2 ไร่ ในนั้นจะมีคลินิกกายภาพบำบัด ซีเนียร์เดย์แคร์หรือฝากเลี้ยงสำหรับผู้สูงอายุ มาเช้าเย็นกลับ โครงการนำร่องกำลังทำอยู่น่าจะเริ่มที่ทำเลสุขาภิบาล 2

แต่เราก็ไม่ได้โฟกัสว่าเน้นเฉพาะคนในหมู่บ้านของพฤกษาฯนะครับ ต้องการเปิดเป็น public นั่นแหละ เช่น มาเปิดใกล้ ๆ ปากทางเข้าหมู่บ้าน มีซีเนียร์เดย์แคร์ดูแลผู้สูงอายุมาฝากไว้แล้วจะรับกลับเมื่อไหร่ก็มารับ หรือให้ไปส่งก็ได้ แล้วก็มีกายภาพเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ กล้ามเนื้อสมองและจิตใจของคนที่มารับบริการ ขณะเดียวกัน จะมีวอร์ดผู้พักฟื้นแทนที่จะอยู่โรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงไปอีก ได้อยู่ใกล้บ้านด้วย อยู่ไปเลยนาน ๆ ก็เป็นเนิร์สซิ่งโฮม ก็สรุปก็คือ จำลองฟังก์ชั่นโรงพยาบาลไปอยู่ที่นั่น ใกล้บ้าน ลงทุนถูกกว่า คอสต์ลดลง

จุดสำคัญคือ คุณภาพการดูแล แพทย์ก็คือแพทย์ที่เราเตรียมไว้แล้ว โมเดลคือ ถ้ามีสัก 4 ยูนิต แพทย์ 2 คนวิ่งได้ 2 ที่ ผมก็ไปคลินิกบอกว่าเช็กแค่ครึ่งวันเพราะเราไม่ได้ตั้งใจจะรักษาความเจ็บป่วย จริง ๆ จะเน้นดูในตึก ดูคนไข้เนิร์สซิ่งโฮม ดูคนไข้ transitional care ก็พอแล้ว แล้วจะวิ่งดูแม้กระทั่ง home health care ในระยะใกล้ ๆ ที่ไม่ใช่ในพื้นที่ เช่น ไปดูแลในหมู่บ้านไหนที่เป็น member สมัครไว้แล้ว เข้าไปเปลี่ยนสายให้อาหาร เปลี่ยนท่อสายปัสสาวะ

โมเดลนี้กำลังจะเกิด เพราะโครงการนี้คุณปิยะ (ปิยะ ประยงค์ CEO พฤกษา เรียลเอสเตท) ก็คุยกันอยู่แล้ว ผมว่าเราเปิดโรงพยาบาลแล้วก็ทำไปพร้อมกัน อันนี้อยู่ที่ความพร้อมของสถานที่ ซึ่งสถานที่มี 2 แบบ คือ รีโนเวตหรือสร้างใหม่ ถ้าสร้างใหม่ใช้เวลา 1 ปี ถ้ารีโนเวตเหลือครึ่งปี อย่างน้อย 1 ปี เราเปิด 2-3 จุดยิ่งดี เพราะลงทุนน้อยกว่าโรงพยาบาลร้อยเท่า