คลัสเตอร์โควิด แคมป์คนงาน โจทย์ใหม่ “กทม.” ต้องคุมให้อยู่

แคมป์คนงาน โควิด

สถานการณ์โควิดระลอก 3 ในช่วงไตรมาส 2/64 ยังคงหนักหน่วงและรุนแรง

เหตุเกิดที่แคมป์คนงานหลักสี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร รับทราบสถานการณ์โควิดภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ ซึ่ง กทม.ดำเนินการ swab (ตรวจหาเชื้อ) 1,667 คน พบผู้ติดเชื้อถึง 1,107 คน 66.41%

นำไปสู่การออกมาตรการควบคุมพื้นที่โมเดล community isolation ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของแรงงาน และเห็นชอบ 2 แนวทาง คือ 1.แคมป์คนงานที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับไซต์ก่อสร้าง หากพบผู้ติดเชื้อให้ควบคุมพื้นที่เช่นเดียวกับแคมป์คนงานเขตหลักสี่ โดยผู้ที่อยู่ภายในยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

2.แคมป์คนงานที่อยู่คนละที่กับไซต์ก่อสร้าง ให้กักตัวผู้ติดเชื้อในแคมป์ ซึ่งเจ้าของต้องจัดให้เหมาะสม ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย

ล่าสุด ทาง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เรื่อง “มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แนบท้ายประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)”

สาระสำคัญมีประกาศแนบท้ายออกมากำกับ 3 กิจกรรมหลักที่พบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อ ได้แก่ “ตลาด-แคมป์คนงานก่อสร้าง-สถานประกอบการ call center” เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

คุมตลาด 9 มาตรการ

“ตลาด” มี 9 มาตรการควบคุมและป้องกัน ได้แก่ “เจ้าของ-ผู้ประกอบการ” 1.ปรับปรุงสภาพแวดล้อม เช่น การระบายอากาศ ไม่มีกลิ่นเหม็นอับ ความสูงของหลังคาต้องเหมาะสม 2.ทำบัญชีผู้ค้าและลูกจ้าง 3.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ กำจัดขยะทุกวัน 4.ทุกคนที่เข้าตลาดสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

5.มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 6.เว้นระยะห่างลูกค้าเลือกซื้อ-จ่ายเงินอย่างน้อย 1 เมตร 7.ควบคุมจำนวนคนในตลาดไม่ให้แออัด ลดเวลาเปิดเท่าที่จำเป็น ถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน

8.ควบคุมทางเข้า-ออก มีมาตรการคัดกรองอาการป่วย ไข้ ไอ จาม เป็นหวัดทุกคนในตลาดตามขีดความสามารถ และ 9.เพิ่มมาตรการใช้แอป เช่น ไทยชนะ หมอชนะ หรือมีการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่

ม้านอกสายตา Call Center

ถัดมา “สถานประกอบการ call center” มี 9 มาตรการควบคุมและป้องกันเช่นเดียวกัน ได้แก่ 1.ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลาปฏิบัติงาน 2.มีจุดล้างมือด้วยสบู่/แอลกอฮอล์เจล/น้ำยาฆ่าเชื้อโรค 3.ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าทำงาน

4.เว้นระยะห่าง 1-2 เมตรในการทำงาน การต่อแถวซื้ออาหาร ประชุม การนั่งในจุดติดต่องาน การใช้จุดพักผ่อนส่วนกลาง ฯลฯ 5.ทำกระจก/แผ่นใสกั้นในจุดที่ต้องพูดคุยกัน 6.จัดชุดหูฟัง-ไมโครโฟนส่วนบุคคล ทำความสะอาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ก่อนและหลังการใช้งาน 7.เพิ่มความถี่-ทำความสะอาดพื้นที่สม่ำเสมอ เน้นจุดสัมผัสเสี่ยง เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ สวิตช์ไฟ เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ

8.เพิ่มความถี่ล้างแอร์อย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง (ปกติ 6 เดือน/ครั้ง) ทำความสะอาดหน้ากากกรองฝุ่นเครื่องปรับอากาศ 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพิ่มระบบระบายอากาศให้หมุนเวียนมากขึ้น 9.พิจารณาทำงานนอกสถานที่ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ

โดยเพิ่มเติม 2 มาตรการ “กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด” คือ 1.แจ้งพนักงานควบคุมโรคติดต่อภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อสอบสวนโรค โดยสถานประกอบการต้องทำตามคำสั่ง/คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. 2.หยุดกิจการ 3 วันเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อ

หนักสุด 409 แคมป์ก่อสร้าง

หนักสุดเป็น “แคมป์คนงานก่อสร้าง” ซึ่งแบ่งเป็น 1.นายจ้าง/ผู้ประกอบการ มี 8 มาตรการหลัก กับ 5 มาตรการย่อย 2.คนงานและครอบครัว มี 8 มาตรการ

3.การเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างข้ามเขตในกรุงเทพฯ มี 4 มาตรการ ในขณะที่ภาคปฏิบัติยังควบคุมไปถึงต้องกรอกเอกสาร “การแจ้งเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน” 6 ข้อ และ 4.การเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างเข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพฯ (ข้ามจังหวัด) มี 5 มาตรการ กับต้องกรอกเอกสาร “การแจ้งเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน” 7 ข้อ รายละเอียด ดังนี้

“มาตรการนายจ้าง/ผู้ประกอบการ” มี 8 มาตรการหลัก กับ 5 มาตรการย่อย ประกอบด้วย มาตรการหลัก 1.คัดกรองเบื้องต้นผู้มีอาการป่วย มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ ให้หยุดทำงานและพบหมอทันที 2.จัดหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า อุปกรณ์ป้องกันให้เพียงพอกับคนงาน

จัดสื่อโรคโควิดภาษาแรงงาน

3.จัดที่ล้างมือพร้อมสบู่/จุดบริการเจลแอลกอฮอล์สำหรับคนงานให้เพียงพอ ในจุดไซต์ก่อสร้างและที่พักคนงาน 4.จัดที่นั่งกินข้าวในแคมป์ ไซต์ก่อสร้าง มีระยะห่างบุคคล 1-2 เมตร 5.รถรับ-ส่งคนงานจัดที่นั่งไม่แออัด ไม่ให้หันหน้าหากัน สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงพูดคุยบนรถ ไม่ควรแวะระหว่างทาง ไม่ควรกินข้าวระหว่างเดินทาง

6.จัดสื่อความรู้โรคโควิดด้วยภาษาที่คนงานเข้าใจได้ มีจุดประชาสัมพันธ์ชัดเจน 7.โฟร์แมน (ผู้ควบคุมงาน)/หัวหน้างานจัด safety talk กับคนงานเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด ก่อนเข้างานทุกวัน มีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ

8.วางแผนซักซ้อมความเข้าใจกับคนงานกรณีเจอผู้ป่วยติดเชื้อ มีอีก 4 มาตรการย่อย ได้แก่ 8.1 การโยกย้ายคนงานปกติเพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วย 8.2 ระหว่างกักตัวหรือกรณีมีการปิดแคมป์ต้องจัดหาอาหาร ของใช้ประจำวันของคนงาน ฯลฯ

8.3 จำกัดการเดินทางเข้า-ออกแคมป์/ที่พัก 8.4 การปิดแคมป์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ควบคุมโรคหรือรักษาพยาบาล (รพ.สนาม) และ 8.5 ประสานกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ทันที เพื่อรับทราบคำแนะนำ

ขอคนงานงดกิน-ดื่มรวมกลุ่ม

“มาตรการคนงานและครอบครัว” มี 8 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ทำความสะอาดห้องพัก/พื้นที่ส่วนกลาง เปิดประตู-หน้าต่างเพื่อระบายอากาศทุกวัน 2.”ที่อาบน้ำรวม” ไม่ควรรวมกลุ่มอาบน้ำ ใช้อุปกรณ์อาบน้ำส่วนตัว เช่น ขันน้ำ สบู่ ฯลฯ 3.ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม กลอน ลูกบิดประตู อ่างล้างมือ บริเวณที่อาจปนเปื้อน/สัมผัสบ่อย ๆ เช่น ราวจับ สวิตช์ไฟ ฯลฯ สม่ำเสมอ

4.สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลาขณะทำงานและอยู่ในที่พัก ไม่นำมือสัมผัสใบหน้า-ตา-จมูก-ปากโดยไม่จำเป็น 5.การทำอาหารต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร ไม่กินอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม แยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อน

6.ไม่ไปในสถานที่แออัด/มีคนเยอะ เช่น ตลาด ร้านค้า 7.งดกิจกรรมสังสรรค์รวมกลุ่ม การกิน-ดื่มหลังเลิกงานหรือวันหยุด และ 8.สังเกตตนเอง/ครอบครัว ถ้ามีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ ให้หยุดทำงาน แจ้งหัวหน้างาน/นายจ้างทราบ

คุมเข้มแรงงานข้ามเขตใน กทม.

“มาตรการในการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างข้ามเขตในกรุงเทพฯ” มี 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.นายจ้าง/ผู้ประกอบการ แจ้งสำนักงานเขต ต้นทาง-ปลายทางทราบก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน 2.เคลื่อนย้ายแรงงานให้เรียบร้อยภายใน 1 วัน 3.แจ้งเหตุผลความจำเป็น และข้อมูลการเดินทาง 4.ปฏิบัติตามมาตรการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ภาคปฏิบัติยังควบคุมไปถึงต้องกรอกข้อมูล “เอกสารการแจ้งเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน” 6 ข้อ 1.แบบเอกสาร 2.หนังสือเดินทาง/เอกสารแทน หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล 3.รายชื่อแรงงาน 4.ใบอนุญาตทำงาน 5.สัญญาจ้างโครงการ 6.เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงานเขตร้องขอ

ข้ามจังหวัดแจ้งต้นทาง-ปลายทาง

“มาตรการในการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างเข้า-ออกพื้นที่กรุงเทพฯ (ข้ามจังหวัด)” มี 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ก่อนเดินทางให้นายจ้าง/ผู้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการจังหวัดต้นทางหรือปลายทาง แล้วแต่กรณี 2.แจ้งสำนักงานเขตต้นทางหรือปลายทางก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน 3.เคลื่อนย้ายแรงงานให้เรียบร้อยภายใน 1 วัน 4.ระบุเหตุผลความจำเป็น ข้อมูลการเดินทาง 5.ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

ขณะที่ภาคปฏิบัติต้องกรอกข้อมูล “เอกสารการแจ้งเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน” 7 ข้อ รายละเอียด ดังนี้ 1.แบบเอกสาร 2.หลักฐานดำเนินการตามมาตรการจังหวัดต้นทาง/ปลายทาง แล้วแต่กรณี 3.หนังสือเดินทาง/ใบแทน/หนังสือรับรองคนงาน 4.รายชื่อแรงงาน 5.ใบอนุญาตทำงาน 6.สัญญาจ้างโครงการ 7.เอกสารอื่น ๆ ตามที่หน่วยงานรัฐร้องขอ

กทม.สั่ง Bubble & Seal

“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.จะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ครบ 25 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ภายใน 2 มิถุนายน 2564 เมื่อถึงตอนนั้นจะมีศักยภาพให้บริการฉีดวัคซีน 38,000-50,000 คน/วัน รวมกับการฉีดวัคซีนภายในโรงพยาบาล 126 แห่งอีก 30,000 คน/วัน คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจากนี้ กทม.ฉีดวัคซีนเข็มแรก 7-8 ล้านคน และฉีดเข็มที่ 2 ให้ประชาชน 15 ล้านเข็มขึ้นไป

สำหรับมาตรการความปลอดภัยภายในแคมป์คนงานที่ยังเปิดทำงาน กทม. อนุญาตให้ทำงานได้ตามมาตรการการควบคุมโรคโดยการกักตัวคนงานไม่ให้ออกจากที่ทำงานและที่พัก (bubble and seal-ควบคุมการแพร่ระบาดในแคมป์โดยไม่ให้คนงานออกนอกที่พัก/ไซต์ก่อสร้าง)

นอกจากนี้เร่งตรวจคัดกรองคนงานในแคมป์ก่อสร้างในพื้นที่ กทม. 409 แห่ง คนงาน 60,000 คน รวมทั้งสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานสนับสนุนการตรวจคัดกรองคนงานก่อสร้างในแคมป์คนงาน 30,000 คน ไม่รวมกับยอดคนงานที่กรุงเทพมหานครรับดำเนินการ

“ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” โฆษกของกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 การแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง 3 จุดใหญ่ คือ เขตหลักสี่ 1 จุด เขตวัฒนา 2 จุด โดยเขตหลักสี่ ทาง กทม.ได้นำโมเดลจังหวัดสมุทรสาครมาใช้ คือ มาตรการ bubble and seal ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของโครงการ ควบคู่ไปกับการตรวจ rapid test 14 วัน หากพบผู้ป่วยโควิดจะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อทำการรักษา

สำนักอนามัยรุกตรวจ ACF

“พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์” ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ชี้แจงบทบาทสำนักอนามัยวางแผนจัดทีมลงพื้นที่เสี่ยงเพื่อตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกหรือ ACF-active case finding ด้วยการ swab อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องจนถึง 30 กันยายน 2564 โดยกำหนดลงพื้นที่ 6 กลุ่มเขต ดังนี้

1.กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ 2.กลุ่มเขตกรุงเทพฯตะวันออกที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษามีนบุรี เขตมีนบุรี 3.กลุ่มเขตกรุงเทพฯกลางที่ลานกีฬาพัฒน์ 2 เขตราชเทวี 4.กลุ่มเขตกรุงเทพฯใต้ที่วัดด่าน เขตยานนาวา

5.กลุ่มเขตกรุงธนเหนือที่สวนหลวงสะพานพระราม 8 เขตบางพลัดและสวนป่าเฉลิมพระเกียรติสะพานตากสิน เขตคลองสาน และ 6.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ : ตลาดบางแคภิรมย์


ทั้งนี้ จะหมุนเวียนไปยังพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด และพื้นที่ชุมชนอื่น ๆ เพื่อลดการเดินทางของประชาชนให้ได้มากที่สุด