คืบหน้ารถไฟไฮสปีด เชื่อมอีอีซี เคลียร์พื้นที่ก่อสร้าง 86%

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เคลียร์พื้นที่ก่อสร้าง 86% รวม 5,521 ไร่ คู่ขนานยกระดับบริการแอร์พอร์ต ลิงก์ มั่นใจเปิดบริการปี 2568

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้นำเสนอความก้าวหน้าการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) ภายหลังได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) ได้ร่วมกันเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญ ๆ ได้แก่ 

ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง คืบหน้า 86%

การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดำเนินโครงการประมาณ 5,521 ไร่ งานมีความคืบหน้า 86% ให้กับเอกชนคู่สัญญาแล้ว นอกจากนี้ การรื้อย้ายสาธารณูปโภคเพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง การส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาของ ร.ฟ.ท. ที่เดินหน้าดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อเนื่องเช่นกัน และจะพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

เริ่มงานก่อสร้าง พร้อมเปิดบริการปี 2568

งานก่อสร้างโครงการจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันบริษัทเอกชนคู่สัญญา ได้ดำเนินการออกแบบ และเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง (early work) เช่น ก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวสำหรับงานก่อสร้างโครงการ (access road and temporary bridge) ก่อสร้างสำนักงานสนาม (site office) บ้านพักคนงาน (labour camp) และก่อสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่ง (concrete yard) แล้ว โดยมีความพร้อมเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ทันที เมื่อได้รับมอบพื้นที่โครงการฯ ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา จาก ร.ฟ.ท. โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4-5 ปี และะเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568 ตามแผนเร่งรัด

ยกเครื่องแอร์พอร์ต ลิงก์ โฉมใหม่ 

การส่งมอบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ขณะนี้ ร.ฟ.ท. พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งยืนยันว่าผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ระหว่างการถ่ายโอนกิจการในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 นี้ โดยเฉพาะเรื่องบัตรโดยสาร ยังสามารถใช้บัตรโดยสารรายเดือนเดิมของ ร.ฟ.ท.ได้ต่อไปหลังการถ่ายโอน และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยให้ผู้โดยสารเปลี่ยนบัตรโดยสารใหม่ต่อไป

ด้านความพร้อมของเอกชนคู่สัญญา ในช่วงก่อนการรับโอนสิทธิ์เพื่อเข้าดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ประกาศใช้งบประมาณสูงถึง 1.7 พันล้านบาท นำผู้เชี่ยวชาญการเดินรถและให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมทั้งสำรวจสภาพทางเทคนิคของสถานี ระบบรถไฟฟ้า เตรียมความพร้อมปรับปรุงสถานี พัฒนาด้านบุคลากรเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพบริการ (Level of Service and Customer Satisfaction) ซึ่งได้เสนอมายัง ร.ฟ.ท. มีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

  • ปรับปรุงระบบไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น ระบบติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ขบวนรถมาตรงเวลามากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิด รักษาความปลอดภัยผู้โดยสาร ระบบรางรถไฟฟ้า ระบบป้องกันอัคคีภัย และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น
  • ปรับปรุงสถานีรถไฟ เช่น ป้ายสัญลักษณ์และบอกทาง ปรับปรุงทางเดิน สิ่งอำนวยความสะดวกสถานีและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและปรับปรุงระบบการจราจร ที่จอดรถโดยรอบ เพิ่มระบบแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย เพิ่มพัดลมระบายอากาศ แผงกันสาดป้องกันแสงแดดและฝนภายในสถานี เพื่อสร้างความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
  • ปรับเปลี่ยนตู้ขนสัมภาระจำนวน 4 ตู้ ให้เป็นตู้รองรับผู้โดยสารแทน โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อชั่วโมง ลดการรอคอยขบวนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนที่เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ทุกขั้นตอนดำเนินการโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด มีมูลค่าการลงทุนรวม กว่า 257,464 ล้านบาท (ภาครัฐ 157,872 ล้านบาท และเอกชน 99,592 ล้านบาท) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์สามารถเชื่อมต่อกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ