สแกน 5 ปัญหาทางด่วน “ศักดิ์สยาม” ปิ๊งไอเดีย “Double Deck-ทางด่วนอุโมงค์”

ภาพประกอบจาก แฟ้มภาพ

“ศักดิ์สยาม” ถกปัญหารถติดบนทางด่วน พบ 5 ปัญหาหลัก “จุไม่พอ-จุดตัดจราจรทางร่วมทางแยก-คอขวด-รถติดหน้าและหลังด่านเก็บเงิน-รถติดทางลงกับพื้นราบ” เผยแก้เฉพาะหน้าขยายทางลง-ขยายพื้นผิวจราจร-ทำ bypass ชี้ช่อง “Double Deck-ทางด่วนอุโมงค์” เป็นทางเลือกในอนาคต ก่อนสั่งให้ กทพ.สรุปปัญหาในรายละเอียด-รวมโครงการที่จะทำเป็น Package-สำรวจจุดที่จราจรแออัดเพิ่ม เผยอีก 2 จุดจราจรโคม่า “แจ้งวัฒนะ-ศูนย์ราชการ/รังสิต-องครักษ์”

วันที่ 27 พ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  การประชุมการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษ ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ทางการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของสภาพปัญหาการจราจร และแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ 

สรุป 5 ปัญหาจราจรทางด่วน

โดยสภาพปัญหาการจราจรบนทางพิเศษในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 5 ปัญหาหลัก ได้แก่ 

1) ปัญหาด้านความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ 

2) ปัญหาจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วมและทางแยก 

3) ปัญหาจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ 

4) ปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง 

และ 5) ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษที่เชื่อมต่อกับถนนพื้นราบ 

ศรีรัช-ด่วนขั้นที่ 1 รับรถเกิน

สำหรับปัญหาด้านความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ ปัญหาจุดตัดกระแสจราจร และจุดคอขวดนั้น มักจะเกิดปัญหาเป็นอย่างมากบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-อโศก และบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไทและทางแยกต่างระดับมักกะสัน รวมทั้งทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงดินแดง-ท่าเรือ-บางนา 

“ประชาชื่น-อโศก” ติดหน้าด่านมากสุด

ส่วนปัญหาการไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางจะเกิดขึ้นบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางหลักบนช่วงทางพิเศษ ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษซึ่งเชื่อมต่อกับถนนพื้นราบ เช่น ทางลงถนนพระราม 9 ทางลงถนนประชาชื่น และทางลงถนนเกษตร-นวมินทร์ เป็นต้น

เร่งประสาน “รถไฟ” ทำทางเชื่อมเข้า “บางซื่อ”

นายศักดิ์สยามกล่าวเพิ่มเติมว่า กทพ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสานการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อบรรจุโครงการทางขึ้น-ลงเพิ่มเติมบริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการบริหารจัดการจราจรบริเวณทางลงถนนเพลินจิต เป็นต้น นอกจากนี้ กทพ.ได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรในเบื้องต้น ดังนี้

การเพิ่มทางลงทางพิเศษศรีรัช ส่วน D เชื่อมถนนพระราม 9 (ขาเข้าเมือง) และการเพิ่มทางลงทางพิเศษศรีรัช ส่วน D เชื่อมถนนจตุรทิศ (ขาเข้าเมือง) เพื่อลดจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางหลัก, การขยายพื้นผิวจราจรบริเวณคอขวดและการก่อสร้างทางเชื่อม (bypass) เพิ่มเติมบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน เพื่อแก้ปัญหาคอขวดและจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางแยกต่างระดับ

“Double Deck-ทางด่วนอุโมงค์” ทางเลือกอนาคต

สำหรับในบริเวณที่มีข้อจำกัดไม่สามารถขยายพื้นผิวจราจรได้ อาจจำเป็นต้องก่อสร้างทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 โดยเฉพาะบนทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-อโศก รวมถึงก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหาความจุของทางพิเศษบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษฉลองรัชทั้งระบบ 

และมีการวางแผนสำหรับนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจร โดยนำข้อมูลปริมาณการจราจร สภาพจราจรและข้อมูลจุดต้นทาง-ปลายทาง (OD) แบบ real time มาประกอบการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาจราจร เช่น การเปิด reversible lane บนทางพิเศษ เป็นต้น

นายศักดิ์สยามกล่าวตอนท้ายว่า ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมโดยมอบหมายให้ กทพ. ลงรายละเอียดในการจัดกลุ่มของปัญหาจราจรบนทางพิเศษ และควรแบ่งการดำเนินงานเป็น package โดยให้จัดลำดับความสำคัญประกอบกับการจัดทำแผนการดำเนินงานและแหล่งเงินที่จะนำมาลงทุนให้ชัดเจน ซึ่งการลงทุนต้องเกิดความคุ้มค่าและคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างด้วย และเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะต้องมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาการจราจรใหม่เพิ่มเติมขึ้นอีก 

ชี้ด่วนแจ้งวัฒนะ-ศูนย์ราชการ-ด่วนรังสิต-องครักษ์ ติดอื้อ

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ กทพ. ดำเนินการศึกษาบริเวณที่มีปัญหาจราจรเพิ่มเติม ประกอบด้วย บริเวณทางลงถนนแจ้งวัฒนะ (เชื่อมต่อศูนย์ราชการ) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 (รังสิต-องครักษ์) และให้เร่งดำเนินการศึกษาการแก้ไขปัญหาจราจรดังกล่าว รวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินงานให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพต่อไป