“สภาผู้บริโภค” ค้านต่อสัมปทาน BTS จับตารัฐบาลลักไก่ชง ครม. 1 มิ.ย.

รถไฟฟ้า บีทีเอส

“สภาองค์กรผู้บริโภค”ค้านสุดตัวต่อสัมปทานสายสีเขียว “กทม.-BTS” 30 ปี ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท หวั่นรัฐบาลลักไก่ จ่อชงครม. 1 มิ.ย.นี้ ยันค่าโดยสารสูงสุดของสายสีเขียวอยู่ที่ 25 บาทเหมาะสมที่สุด

วันที่ 30 พ.ค. 2564 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งว่า การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว น่าจะหรืออาจจะถูกบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564 ที่จะถึงนี้

สารี อ๋องสมหวัง
สารี อ๋องสมหวัง

โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันใช้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียว 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไปทำให้ประชาชนส่วนมาก ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนนี้ได้

นอกจากนี้ยังได้รับการคัดค้านจากทั้งจากคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร สภาองค์กรของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

เนื่องจากปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้าของ กทม.น่าเชื่อว่าขาดความโปร่งใส มีการปกปิดข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจ และไม่มีการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนในการดำเนินการอย่างครบถ้วน  ทำให้กำหนดอัตราค่าโดยสารราคาสูงสุดที่ 65 บาท ซึ่งไม่อยู่บนข้อเท็จจริงต้นทุนและสูงมากถึงร้อยละ 39.25 ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันของประชาชน และปล่อยปละละเลยให้ภาคเอกชนทวงหนี้ 30,000 ล้านบาท ต่อสาธารณะที่เข้าข่ายทวงหนี้ผิดกฎหมาย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงขอคัดค้าน ครม. ที่จะนำสัญญาสัมปทานล่วงหน้าสายสีเขียวเข้ารับการพิจารณาในวันอังคารหน้านี้ เพราะจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชน นอกเหนือจากปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวกรุงเทพไปอีกอย่างน้อย 30 ปี (พ.ศ. 2573-2602)

ชี้ 25 บาทสูงสุดเหมาะสมกว่า

จากการศึกษาข้อมูลรายงานประจำปีของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) โดย รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ พบว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยวเพียง  19.10 บาท, 16.30 บาท และ 13.50 บาท ในปี พ.ศ. 2562, 2561 และ 2560 ตามลำดับ

ดังนั้นจึงน่าจะมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสามารถกำหนดอัตราราคาค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสายต่อเที่ยวหากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า

หรือหากพิจารณารายได้ของบริษัทในการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า ที่กำหนดรายได้ของบริษัทไว้เพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 30 ปี ขณะที่รายได้จริงของบริษัทในปี 2562 สูงถึง 39,931 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นการคำนวณรายได้ของบริษัทที่ต่ำกว่าจริงหรือไม่ และอาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนหรือไม่ และแน่นอนเป็นการสร้างภาระที่เกินควรให้ผู้บริโภค

หรือหากพิจารณาราคาค่าโดยสารของกระทรวงคมนาคมที่ให้ความเห็นต่อ ครม. ก็มีราคาสูงสุดเพียง 49.83 บาทตลอดสายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ระบบสายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท จนถึงระยะเวลาหมดสัมปทานในปี 2602 หากลดราคาดังกล่าวลงมา 50% สามารถมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 25 บาท กรุงเทพมหานครก็ยังคงมีกำไรสูงถึง 23,200 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 38 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2602)

เพื่อลดปัญหาค่าครองชีพและลดค่าบริการขนส่งมวลชนของประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน  ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาระบบรถไฟฟ้า โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่เป็นเป้าหมายของการใช้ระบบรถไฟฟ้าในการเดินทางเข้ามาทำงานในใจกลางกทม. ตลอดจนเพื่อลดความแออัดของการจราจรบนท้องถนนและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่อันตรายต่อสุขภาพและยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ในปัจจุบัน


จึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรี คงราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวราคา 44 บาทตลอดสาย ตามสิทธิของบริษัทในสัญญาสัมปทานนับแต่ปัจจุบันจนถึงปี พ.ศ. 2572 โดยมีการจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท ทั้งสัมปทานเดิมส่วนต่อขยายเดิมและส่วนต่อขยายใหม่ เพื่อยึดหลักการเข้าถึงได้ของบริการขนส่งมวลชนของประชาชนทุกคน และคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนและภาระเกินสมควรของผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ในปัจจุบัน