“ภูมิใจไทย-คมนาคม” จ่อ Walk Out ปมชง ครม. เคาะต่อสัมปทานสายสีเขียว 1 มิ.ย. 64

“ภูมิใจไทย” ผนึก “สภาผู้บริโภค-TDRI-นักวิชาการ” ประสานเสียงค้านแหลกต่อสัมปทานสายสีเขียว “สิริพงศ์” ชี้ “คมนาคม” walk out แน่หากหยิบขึ้นมาพิจารณา และฟ้องศาลปกครองซ้ำ ด้าน “สภาผู้บริโภค-TDRI-นักวิชาการ” ตกใจผิดหวังที่รัฐยังดึงดันเสนอ ครม.

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเสวนา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยโปรแกรม “Zoom” ค้านการนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะถูกบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุม ในวันอังคารที่ 1 มิถุนายน 2564

โดยมีนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค, นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย,  ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ  ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ 


“คมนาคม-ภูมิใจไทย” จ่อ Walk Out-ชงศาลปกครอง

เริ่มที่นายสิริพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงคมนาคมที่พรรคภูมิใจไทยดูแลด้วย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำเรื่องเข้า ครม. ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้าน ถึงนายกรัฐมนตรี ในเรื่องความครบถ้วนของสัญญาสัมปทาน. และเหตุใด กทม.ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงโอนหนี้ไปให้กับเอกชน เขาสามารถโอนหนี้ไปให้กับเอกชนได้ด้วยหรือไม่ รวมถึงประเด็นในข้อกฎหมายที่ กทม. ไปตั้งบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นมาที่กำลังถูกฟ้องร้อง ชื่อ บริษัท กรุงเทพธนาคม และไปจ้างบริษัทอื่นเดินรถ เป็นการหลบเลี่ยงทางกฎหมายหรือไม่ 

ทั้งนี้หากมีการบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ คิดว่ากระทรวงคมนาคมจะไม่เข้าร่วมการพิจารณาใดๆ ส่วนตนอาจจะต้องดำเนินการยื่นฟ้องที่ศาลปกครองอีกครั้ง

“ผู้บริโภค-TDRI” ผิดหวังรัฐดึงดัน

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง  กล่าวว่า ตกใจและผิดหวังที่จะมีการนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนให้ ครม.พิจารณา ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ (1 มิถุนายน 2564) สิ่งที่อยากเห็นในมติ ครม.จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องราคา ต้องต่ำกว่า 44 บาท เพราะเป็นการต่อสัญญาล่วงหน้า และยืนยัน 25 บาท กทม.ก็ยังมีกำไรถึง 23,200 ล้านบาท 

อีกทั้งหวังว่าจะมีการชะลอการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว และตั้งคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาแก้ไขปัญหาได้หาทางออกร่วมกัน และหากพรุ่งนี้ในมติ ครม. รัฐบาลยืนยันจะเก็บ 65 ไป-กลับ 130 บาท หรือ 40% ของค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลก็ไม่ควรเป็นรัฐบาล เพราะไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่รักษาประโยชน์ไม่ได้มีหน้าที่สร้างภาระให้กับประชาชนไปอีก 38 ปี

ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังหน่วยงานที่จะนำเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วน ทั้งที่ไม่มีเปิดเผยรายละเอียดและแก้ไขสัญญา และเรียกเก็บ 65 บาท ตลอดสาย โดยไม่ลองพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ มาเปรียบเทียบที่หลายฝ่ายได้เสนอ แต่ยังเอาเรื่องเดิมๆ ร่างสัญญาสัมปทานเดิมที่ไม่เปิดเผยรายละเอียด รวมถึงค่าโดยสารที่ระบุไว้ 65 บาทนั้นไม่มีที่มาที่ไป ไปบรรจุเข้าเป็นวาระเร่งด่วนใน ครม. 

นอกจากนี้ ในมุมมองตนอยากเห็นรถไฟฟ้าของกรุงเทพฯเป็นระบบเดียวกันทั้งระบบเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลคือกระทรวงคมนาคมและ กทม. พัฒนาโครงการแยกกันคนละโครงข่าย ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา และมีค่าโดยสารที่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต

นักวิชาการ ประสานเสียงไม่เห็นด้วย

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะต่อสัญญาสัมปทานไป 30 ปี และเรียกเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย เพราะต้นทุนจริง เพียง 13 บาทต่อเที่ยว ดังนั้น เมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ในปี 2572 การเก็บ 25 บาท จึงมีความเป็นไปได้ เพราะไม่มีเรื่องโครงสร้างต้นทุน นอกจากนี้ บีทีเอส ยังมีรายได้อื่นๆ เช่น โฆษณาจากทุกช่องทาง อีกทั้งตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงเร่งรีบนำเข้า ครม. ในช่วงที่คนกำลังให้ความสนใจเรื่องวัคซีนโควิด-19 กัน 

สำหรับ นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออกมาเรียกร้องเรื่องอัตราค่าโดยสารที่แพง ขอให้เก็บ 25 บาทตลอดสาย และชะลอการต่อสัญญาสัมปทานไปก่อนไม่ต้องเร่งรีบ เพราะยังเหลือเวลาอีก 8 ปี จึงจะหมดสัญญา ทั้งนี้อยากให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเอาข้อมูลที่ถูกต้องเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาหารือกัน

“เมื่อเดือนเมษายน นายกรัฐมนตรีเคยออกมาพูดเรื่องรถไฟฟ้าว่า ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นคำมั่นสัญญา หากพรุ่งนี้ ครม.มีมติออกมาว่าต่อสัญญาสัมปทาน ก็คงจะต้องร่วมกับทาง ส.ส.สิริพงศ์ ว่าเราจะไปฟ้องศาลปกครองและเราก็จะหยุดเรื่องนี้ และเดินหน้าฟ้องศาลปกครองแน่นอน”  นายคงศักดิ์กล่าว