ศักดิ์สยาม ปฏิวัติคาร์แชริ่ง-เปลี่ยนแท็กซี่ป้ายดำ เข้าระบบ “แท็กซี่สติ๊กเกอร์ม่วง”

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

วันนี้ที่รอคอย ปฏิวัติรถบ้านให้เป็นรถแท็กซี่ถูกกฎหมาย

25 พฤษภาคม 2564 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงให้นำรถบ้านมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารได้อย่างถูกกฎหมาย

หรืออีกนัยหนึ่งเป็นระบบ “คาร์แชริ่ง” ธุรกิจเกิดใหม่ในโลกยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น

และเป็นผลงานหาเสียงของรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม กับหมวกอีกใบในฐานะเลขาธิการพรรค

ประสาน 5 หน่วยงาน

นับจากวันแรกที่เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม 10 กรกฎาคม 2562 เท่ากับใช้เวลาผลักดันและดำเนินการ 1 ปี 10 เดือน จนกระทั่งมีมติ ครม. 25 พฤษภาคมเป็นตัว kick off เพื่อนับถอยหลังสู่ภาคปฏิบัติ

โดย “ศักดิ์สยาม” ออกแรงเร่งกรมการขนส่งทางบกหน่วยงานต้นสังกัด กำหนดไทม์ไลน์ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 หรืออย่างช้าภายในเดือนกรกฎาคมนี้ “รถบ้าน” จะเริ่มให้บริการรับส่งผู้โดยสารคนแรก

ระบบคาร์แชริ่งหรือที่กระทรวงคมนาคมเรียกว่า “การเรียกรถผ่านแอป” มีชื่อเป็นทางการว่า “ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …” หน่วยงานรับผิดชอบคือกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

ขั้นตอนจากนี้ “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีขนส่งทางบกจะเป็นเจ้าภาพจัดทำข้อมูลโดยมีข้อสังเกตของ 5 หน่วยงานเป็นองค์ประกอบในการดำเนินนโยบาย

ได้แก่ 1.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 3.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4.สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 5.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

จัดระเบียบ “รถบ้าน-ผู้ขับขี่”

เบื้องต้น รถแท็กซี่แนวใหม่หรือรถแท็กซี่สติ๊กเกอร์สีม่วง ทางกรมการขนส่งทางบกรับไปดำเนินการดังนี้

1.เปลี่ยนสถานะรถบ้านเป็นรถแท็กซี่ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน

2.การจดทะเบียนรถยนต์ยังคงใช้รหัสประเภท “รย.1” (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ตามเดิม แต่มีสถานะเป็นรถยนต์รับจ้างโดยสาร

3.อายุรถไม่เกิน 9 ปี (หลักเกณฑ์เดียวกับแท็กซี่มิเตอร์)

4.ผู้ขับขี่รถบ้านหากต้องการหารายได้เสริมต้องไปขอเปลี่ยนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์จาก “ใบขับขี่รถส่วนบุคคล” เป็น “ใบขับขี่รถสาธารณะ”

5.ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

6.ต้องทำประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้โดยสาร

7.รถบ้านที่จะนำมาวิ่งเป็นแท็กซี่ทางเลือกได้ คุณสมบัติเบื้องต้นสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป แบ่งเป็น 3 ขนาด “มินิคอมแพ็กต์คาร์” เครื่องยนต์ 50-90 kW (เช่น โตโยต้าวีออส, ฮอนด้าซิตี้, นิสสันมาร์ช)

“คอมแพ็กต์คาร์” เครื่องยนต์ 90-120 kW (เช่น โตโยต้าอัลติส, ฮอนด้าซีวิค) และ “รถใหญ่” เครื่องยนต์เกิน 120 kW (เช่น ฮอนด้าแอคคอร์ด, โตโยต้าฟอร์จูนเนอร์)

โดยการคำนวณหน่วยกำลังเทียบเป็นแรงม้า กำหนดดังนี้ แรงม้าเมตริกตัน (PS) สูตรคำนวณ 1.3596 PS = 1 kW, แรงม้าอังกฤษ (HP) สูตรคำนวณ 1.341 HP = 1 kW

ค่าโดยสารสูตรแท็กซี่มิเตอร์

สำหรับความแตกต่างกันของไซซ์รถทำให้ค่าโดยสารไม่เท่ากัน แบ่งเป็น 1.ค่ารถตามระยะทาง คิดจาก 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 50 บาทสำหรับรถเล็ก รถใหญ่ให้เบิลไม่เกิน 200 บาท, ถัดไปคิดกิโลเมตรละไม่เกิน 12 บาทสำหรับรถเล็ก รถใหญ่ไม่เกิน 30 บาท

สำหรับค่ารถติดรถเล็กให้คิดเพิ่มนาทีละไม่เกิน 3 บาท รถใหญ่ไม่เกิน 10 บาท

2.ค่าบริการเสริม ค่าเรียกรถผ่านศูนย์อิเล็กทรอนิกส์ ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเรียกรถผ่านแอป (application fee) รถเล็กไม่เกิน 50 บาท รถใหญ่ไม่เกิน 100 บาท

นอกจากนี้ยังมีค่าบริการเสริมอื่น ๆ ตามที่ รมว.คมนาคมกำหนด จะเรียกว่า extra charge ก็ได้ ภาษาในวงการเรียกว่า dynamic pricing เช่น ค่าชั่วโมงเร่งด่วน ค่าเรียกรถตอนกลางคืน กำหนดให้รถเล็ก-รถใหญ่เท่ากันคิดเพิ่มไม่เกิน 200 บาท

ทั้งนี้ ค่าโดยสารแท็กซี่ทางเลือกเป็นสูตรเดียวกันกับค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ในปัจจุบัน

จัดระเบียบ “ผู้ให้บริการแอป”

นโยบายนี้ออกแบบมาเพื่อเป็น “แท็กซี่ทางเลือก” และเพื่อให้สามารถอธิบายเหตุผลกับผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ได้ ดังนั้นจึงกำหนดดังนี้

1.แท็กซี่สติ๊กเกอร์ม่วงเรียกใช้บริการผ่านแอปเท่านั้น ห้ามการโบกรถเหมือนกับแท็กซี่มิเตอร์ในปัจจุบัน

2.ผู้ให้บริการแอปต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย

3.มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท

4.มีออฟฟิศอยู่ในประเทศไทย

5.ทำงาน 24 ชั่วโมง

6.ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะควบคุมคุณสมบัติเจ้าของแอปกับรายละเอียดการทำงาน ซึ่งหมายถึงควบคุมด้านความปลอดภัยผู้โดยสารโดยอัตโนมัติ

ดีเดย์กรกฎาคม 2564

ไทม์ไลน์ของ “รมต.ศักดิ์สยาม” วางกรอบเวลาให้มีการออกประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ทันที หรือให้ทำงานพร้อมกันกับกฎกระทรวง มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้

ในขณะเดียวกัน นโยบายปฏิวัติรถบ้านให้เป็นรถแท็กซี่ถูกกฎหมายมีอีกเรื่องที่ต้องทำเร่งด่วน ก็คือ สั่งการให้ ขบ.พัฒนาแอปเป็นทางเลือกให้แท็กซี่มิเตอร์ใช้แทน GPS หรือ “แท็กซี่โอเค” ให้แล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2564

แอปทางเลือกของแท็กซี่มิเตอร์มีเดดไลน์เสร็จก่อน 1 เดือน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย-เพิ่มรายได้ให้กับผู้ขับขี่แท็กซี่เดิมในปัจจุบัน