เรื่องเล่า CEO ไซต์ก่อสร้าง แรงงานต่างด้าวในไลน์ผลิตบ้าน-คอนโดฯ

Photo by AFP

ยิ่งตรวจยิ่งเจอ เป็นคำอธิบายการตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ “นางวัลยา วัฒนรัตน์” รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบในเขตบางรัก 3 ไซต์ คนงาน 605 คน พบผู้ติดเชื้อ 277 คน เกือบ 50%

ในขณะที่มี 2 ข้อมูลจาก 2 แหล่งพูดเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับแคมป์คนงานก่อสร้าง สาระสำคัญพื้นที่กรุงเทพฯเพียงจังหวัดเดียว ข้อมูลของ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ระบุมี 409 แคมป์ คนงาน 62,838 คน เป็นแรงงานไทย 26,923 คน แรงงานต่างด้าว 35,915 คน

อีกข้อมูลของกระทรวงแรงงาน มี 841แคมป์ 129,542 คน เป็นแรงงานไทย 53,550 คน แรงงานต่างด้าว 75,992 คน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผลสำรวจที่รวมไซต์ก่อสร้างขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

คลัสเตอร์โควิดในแคมป์ก่อสร้างเป็นปัญหาระดับวิกฤตที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญในช่วงไตรมาส 2/64 “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจโมเดลการบริหารจัดการแคมป์คนงานในสถานการณ์โควิดเพื่อร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

วิโรจน์ เจริญตรา

พรีบิลท์สุ่มตรวจทุก 7 วัน

เริ่มด้วยรับเหมาก่อสร้างอาคารท็อป 5 “วิโรจน์ เจริญตรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มี 10 ไซต์ก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าทำเลในเมือง คนงาน 2,000-3,000 คนสัดส่วน 70% เป็นแรงงานต่างด้าว 30% แรงงานไทย เฉลี่ยไซต์ละ 400-500 คน
จนถึง 1,000 คน

“ประเด็นใหญ่สุดตอนนี้ต้องการให้รัฐบาลเร่งฉีดวัคซีนในแคมป์ก่อสร้างทุกแห่ง ตรงไหนเป็นคลัสเตอร์รัฐต้องฉีดก่อน ถ้าให้เขารอก็เป็นระเบิดเวลาเพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ ถึงแม้จะระวังยังไงก็ตาม ยิ่งจบช้ายิ่งเสี่ยงเยอะ”

ในส่วนของบริษัท alert มากกว่าการเตรียมตัวฉีดวัคซีนคนงาน โดยมีการเตรียมหมอ-พยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้ฉีดวัคซีน มีค่าใช้จ่ายโดสละ 250 บาท ฉีดคนละ 2 โดส

“ถ้าขอได้อยากให้รัฐบาลกำหนดว่าโรงพยาบาลเอกชนค่าฉีดไม่เกิน 100 บาทก็จะดีมากเลย เพราะถือว่าเอกชนช่วยรัฐบาลฉีดเร็ว ๆ”

กลับมาดูการดูแลคนงานในแคมป์กันบ้าง

“แคมป์คนงานผมสุ่มตรวจทุก 7 วัน เพราะตรวจวันนี้ไม่ได้การันตีว่าพรุ่งนี้ไม่เป็น… แต่ถ้าให้ตรวจอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็เหนื่อย (ค่าใช้จ่ายสูง)”

การบริหารจัดการก็มีการตรวจเชื้อ ทำความสะอาด เป็นไปตามมาตรการที่รัฐกำหนดมาให้ มีระบบปิดซึ่งหมายถึงห้ามการเข้า-ออกแคมป์ คนงานอยู่ภายในไม่ให้พบปะคนภายนอก อาหารการกินบริษัทจัดหาให้

“ทำเลเรามีทั่วกรุงเทพฯ ตึกสูงที่สร้างตอนนี้ชาวบ้านข้างเคียงเขากลัวแคมป์คนงานหมดแล้ว ขนาดร้านก๋วยเตี๋ยวที่ติดโควิดคราวที่แล้ว ถามว่าคนงานมาซื้อก๋วยเตี๋ยวหรือเปล่า กลัวกันหมดเลย เกิดแพนิกในกลุ่มคนงานเหมือนกัน”

ยกปัญหาต่างด้าวขึ้นบนโต๊ะ

เมื่อแตะเรื่องแรงงานต่างด้าวแล้ว CEO พรีบิลท์ฝากการบ้านถึงรัฐบาลด้วยว่า อีกปัญหาใหญ่ที่กำลังเป็นอยู่ คือ ภาวะขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว เปรียบเทียบยุคก่อนโควิดคนงานหาง่าย แต่ยุคโควิดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวหายไป 30% มีการแย่งตัวและขึ้นค่าแรง-ค่าโอที 10-20%

ดังนั้น อยากให้รัฐบาลมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย โดยไม่สร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ทำให้มีการหลีกเลี่ยงหรือลักลอบเข้ามาทำงานในไทย

“เมื่อก่อนผมหาคนงานง่าย เดี๋ยวนี้หายาก และไม่ใช่หายากอย่างเดียว คนงานต่างด้าวที่อยู่เดิมก็ไม่อยากให้รับแรงงานต่างด้าวคนใหม่เข้ามาเพราะกลัวติดโรค หนีเสือปะจระเข้กันหมด แต่ถ้ารับคนงานใหม่ก็ให้กักตัวไว้ 14 วัน เราก็รู้แล้ว เราก็รับเข้าทำงานได้”

ในระหว่างนี้ แรงงานขาดแคลนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไซต์ก่อสร้างที่มีอยู่ก็ปรับแผนการทำงานไปตามจำนวนคนที่มี บางไซต์แจ้ง owner (เจ้าของโครงการ) ในการขอขยายเวลาก่อสร้าง และต้องเพิ่มการทำงานล่วงเวลา หรือ OT

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข

แรงงานขาดแคลนหนัก

ถัดมา “ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) และเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีงานรับเหมาในมือ 6 โครงการ มูลค่างาน 9,325 ล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช สัญญาที่ 16, ทางหลวง 3901 วงแหวนตะวันตก, ทางหลวง 304 ปากเกร็ด-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, รถไฟทางคู่สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก และขยายทางขับขนานสนามบินตรัง

“ตอนนี้รับเหมาทำงานลำบากเพราะได้รับผลกระทบ 2 มาตรการของรัฐ เรื่องปิดการเข้าออกประเทศทำให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานไม่ได้ กับเวลาย้ายไซต์ย้ายแรงงาน อสม.ของแต่ละพื้นที่จะเข้มงวดมากต้องกักตัว 14 วันทันที ทำให้ไม่สะดวกบ้าง แต่เราก็ยอมทำตามเพื่อไม่ให้มีปัญหา”

รวมทั้งในไซต์ขาดแคลนทั้งแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานมีฝีมือ เช่น ช่างเหล็ก ช่างปูน คนขับรถแบ็กโฮ รถบดถนน ฯลฯ วิธีแก้ปัญหาสำหรับงานที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือมีการนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ไซต์ก่อสร้างยังต้องใช้แรงงานคนอยู่ดี

“…ตรงไหนใช้เครื่องจักรได้ก็ให้ใช้ไปก่อน และให้ระดับหัวหน้างานลงไปกำกับแรงงานให้ใกล้ชิดมากขึ้น แต่ยอมรับว่าบริหารค่อนข้างลำบาก เพราะตลาดแรงงานในประเทศปิดอยู่ ไม่มีซัพพลายแรงงานเลย”

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด ขอให้ออกมาตรการขยายอายุสัญญางานก่อสร้างทุกงานทุกโครงการอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รับเหมางานของรัฐเสนอไปหลายครั้งแล้ว

“สถานการณ์ตอนนี้เหมือนคนป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง แต่รักษาเหมือนไข้หวัด ให้กินน้ำ กินยา พักผ่อนไป ทั้ง ๆ ที่ควรจะเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาให้หาย ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนกันเอง”

ปิยะ ประยงค์

พฤกษาฯตรวจหัวละ 400

หนึ่งในดีเวลอปเปอร์ที่มีไซต์ก่อสร้างมากที่สุดในวงการ “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันพฤกษาฯมีไซต์ก่อสร้าง 150 ไซต์ กระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล สัดส่วน 90% เป็นไซต์ก่อสร้างบ้านจัดสรรใน 3 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี อีก 10% เป็นคอนโดฯในกรุงเทพฯ มีแรงงานก่อสร้าง 15,000 คน เป็นแรงงานไทย 30% แรงงานต่างด้าว 70%

โมเดลบริหารแคมป์คนงานก่อสร้าง พฤกษาฯมีการตรวจเชิงรุกเป็นมาตรการหลัก โดยมีบริษัทเอาต์ซอร์ซรับจ้างตรวจหาเชื้อเชิงรุก ค่าใช้จ่ายหัวละ 400 บาท ความถี่ถ้าไม่ได้มีการเคลื่อนไหวก็สุ่มตรวจเดือนละ 1 ครั้ง กลุ่มเคลื่อนย้ายไซต์รวมทั้งแรงงานใหม่มีการสุ่มตรวจทุกครั้ง

“คนงานรวมเอาต์ซอร์ซ 1-1.5 หมื่นคน คนไทย 30% แต่ส่วนใหญ่คนพวกนี้ไม่ได้ไปไหน เพราะงานก่อสร้างของเราไม่ได้มีหยุด มีต่อเนื่องตลอด คนนอกก็ไม่ได้เข้า ส่วนใหญ่อยู่ประจำเพราะงานเรารันตลอด ส่วนแรงงานต่างด้าวปกติคนงานเรามีบัตรทุกคน”

พฤกษาฯกำลังรีโมเดลผู้รับเหมา เดิมไซต์ก่อสร้าง 1 โครงการมี 15 ราย ดังนั้น เฉลี่ย 100 กว่าไซต์มีผู้รับเหมา 1,000 กว่าราย นโยบายต้องการให้ยุบเหลือไซต์โครงการละ 3-5 ราย เพื่อให้รับผิดชอบแบบเหมาจ่าย รวมทั้งดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าวด้วย

“ในอดีตเป็นแบบหนึ่ง ปัจจุบันพฤกษาฯขยายใหญ่มาก การดีลกับผู้รับเหมาคิดว่าให้มีรายใหญ่แล้วรับผิดชอบไปเลย เพราะงานไซต์ก่อสร้างจุกจิกเยอะ เราไม่อยากยุ่งแล้ว ก็เลยเปลี่ยนโมเดลให้เหมาะสมกับขนาดองค์กร”

“ปิยะ” ประเมินด้วยว่า สถานการณ์โควิดจะอยู่กับเราไปอีกระยะสั้นภายในไตรมาส 2/64 ยังไม่จบ และน่าจะลากยาวไปถึงระยะกลางภายในไตรมาส 3/64 ด้วย แต่เป็นไตรมาสที่รัฐบาลวางแผนให้มีวัคซีนบิ๊กลอตเข้ามาแล้ว ถ้าเป็นไปตามแผนภายในไตรมาส 4/64 ปัญหาโควิดเบาบางลงและมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้

อาณัติ กิตติกุลเมธี

แสนสิริซีลแคมป์แนวราบ

ดีเวลอปเปอร์แบรนด์เนมอีกค่าย “อาณัติ กิตติกุลเมธี” รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการแนวราบ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แจกแจงข้อมูลว่า แสนสิริมีไซต์ก่อสร้างบ้านแนวราบ 60-70 ไซต์ แรงงานก่อสร้าง 2,000-3,000 คน เฉลี่ยไซต์ละ 30-100 คน โดยไซต์ก่อสร้างขนาดไม่ใหญ่ มีการใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป หรือพรีแคสต์เป็นหลัก ลดการใช้แรงงานได้บางส่วน เหลือรับเหมารายย่อยช่างปูกระเบื้อง ช่างทาสี ฯลฯ

ในขณะที่ผู้รับเหมาไฟฟ้า ฝ้าเพดาน เป็นรายย่อย ส่วนใหญ่ใช้แรงงานไทยซึ่งพักบ้านตัวเอง ทำให้แรงงานจริง ๆ ที่พักอาศัยในแคมป์สำหรับแนวราบมีจำนวนไม่มาก

โมเดลที่ใช้ตรวจหน้างานพยายามให้พนักงานแสนสิริกับคนงานอยู่ห่างกัน เวลาไปตรวจงานจะตรวจโดยไม่มีคนงานเลย การติดต่อสื่อสารใช้การโทร.คุย ลดการสัมผัส ลดการใกล้ชิด รักษาระยะห่างอย่างเคร่งครัด ในแคมป์กั้นพื้นที่ก่อสร้างกับแคมป์อยู่คนละส่วน

“แคมป์ส่วนใหญ่เฉลี่ย 40-50 คน/โครงการ เรามีมาตรการกับผู้รับเหมาในการคัดกรองก่อนเข้ามาทำงานในไซต์ เน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก การทานข้าวจากเดิมรวมตัวกินข้าวกันก็จะให้แยกเป็นห้องใครห้องมัน ครอบครัวใครครอบครัวมัน เลิกงานเสร็จก็เข้าห้องเลย โฟกัสการทำความสะอาดห้องน้ำ จัดสรรน้ำประปาให้เพียงพอ ห้องน้ำแยกชายหญิงอยู่แล้ว และพยายามเน้นย้ำให้ใส่หน้ากากตลอดเวลา ซึ่งทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี”

“ในแคมป์คนงานถ้าเขาขาดเหลืออะไร เราก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตให้ ต้นทุนดูแลตรงนี้เพิ่มขึ้นมานิดหน่อย ไม่มีผลมากกับสเกลบริษัท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ครับ เพราะมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น”

สุรวุฒิ สุขเจริญสิน

LPN สกรีนทุกเม็ดในแคมป์

สำหรับค่าย LPN เป็นดีเวลอปเปอร์รายเดียวในวงการขณะนี้ (ณ 3 มิถุนายน 2564) ที่ประกาศว่า ไม่มีแรงงานติดเชื้อโควิดในแคมป์ “สุรวุฒิ สุขเจริญสิน” หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า LPN อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10-20 ไซต์ คนงานรวม 2,000 คน เฉลี่ยไซต์เล็กไซต์ใหญ่มีคนงานไซต์ละ 30-100 กว่าคน

ที่ผ่านมาบริษัทมีปิยมิตรผู้รับเหมาที่เรียกว่า LPN Team ที่เป็นพันธมิตรยาวนาน 30 ปี สถานการณ์โควิดเป็นอีกครั้งที่แบ่งปันและมีความร่วมมือใกล้ชิด เช่น ทำหน้ากากผ้าใช้เอง

คลัสเตอร์โควิดทำให้มีต้นทุนบริหารจัดการแคมป์คนงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าตรวจหาเชื้อตกหัวละ 1,000 บาท ติดตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ฯลฯ โดย LPN สำรองบ้านพักคนงาน 50 ห้องสำหรับการกักตัวตามมาตรฐาน 14 วัน หรือการแยกกักตัวสำหรับผู้สงสัยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รังสิต คลอง 8

ทั้งนี้ คนงาน 2,000 คน ตรวจเชื้อแล้ว 1,000 คน เป้าหมายทยอยตรวจให้ครบ 2,000 คน เน้นการป้องกันมากกว่าการคัดกรอง กล่าวคือป้องกันไม่ให้คนนอกแคมป์เข้ามาสัมผัสกับคนในแคมป์ ความเสี่ยงก็จะต่ำ ใครที่มีอาการจะแยกออกไปเลย

ค่าใช้จ่ายคัดกรองคนงานตกหัวละ 1,000 บาท ตรวจ 1,000 คนเกือบ 1 ล้านบาท วิธีการเริ่มจากทำ rapid test เพื่อสกรีนเบื้องต้น ค่าใช้จ่ายถูกกว่าและเห็นผลเร็วกว่า ตรวจเสร็จภายใน 1 วันก็จะรู้แล้วว่าใครมีความเสี่ยง คนที่ผลเป็นโพซิทีฟ (ติดเชื้อ) จะตรวจ swab อีกครั้งหนึ่ง

ในด้านคุณภาพชีวิตในแคมป์ ผู้บริหาร LPN ยืนยันว่าให้ความสำคัญมาก การอาบน้ำมีการจำกัดรอบไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป กรณีห้องอาบน้ำรวมมีการกำหนดจำนวนผู้อาบเป็นรอบ ๆ อาหารมีครัวกลางปรุงสุกมาให้คนงาน เวลากินข้าวก็ไม่ให้มากินพร้อมกัน อยู่ห่างกัน

ของใช้พยายามไม่ให้พนักงานออกไปซื้อเอง มีร้านค้าภายในเพื่อให้คนงานสามารถหาซื้อของใช้จำเป็นได้ มีการคัดกรองคนนอก เพราะตอนนี้มั่นใจว่าภายในแคมป์คนงานเราดูแลเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร

“LPN โฟกัสเรื่องสวัสดิภาพของพนักงานเยอะอยู่แล้ว เราดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกบ้าน พนักงาน แรงงานเราก็จะดูแล มาตรการ กทม.เราทำมา 90% ตั้งแต่ปี 2563 แล้ว แรงงานของเราไม่มีใครที่ติดโควิดเลย”