“ซีเมนส์”ปาดเค้กสนามบินสุวรรณภูมิ ส่ง”รถไฟฟ้า”ไร้คนขับบุกไทยประเทศแรกในเอเชีย

“ซีเมนส์” ยึดตลาดประเทศไทย ผนึกอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ส่งรถไฟฟ้า APM ระบบไร้คนขับ วิ่งเชื่อมอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอร์ด ทอท.ไฟเขียว 2,999 ล้านบาท รอเซ็นสัญญาส่งท้ายปี ดีเดย์ มี.ค. 63 เปิดหวูดบริการ

นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ร่วมกับ บจ.ไทยอิงเกอร์ เทคโนโลยี บจ.เรืองณรงค์ และบจ.วิวเท็กซ์ จัดตั้งนิติบุคคลร่วมทำงานไออาร์ทีวี เข้าประมูลงานซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) สนามบินสุวรรณภูมิ

ผลประมูลครั้งที่ 3 ทางกลุ่มเป็นผู้ชนะด้วยราคา 2,999.90 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่รวมค่าอะไหล่ แต่สูงกว่าราคากลางอยู่กว่า 100 ล้านบาทหรือ 3.62% และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) แล้ว จะเซ็นสัญญาและเริ่มงานได้ภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2560

“บริษัทลงทุนในโครงการนี้ในสัดส่วน 60-65% คิดเป็นวงเงินประมาณ 1,800-2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 35% จะเป็นของผู้ร่วมลงทุนอีก 3 ราย”

สำหรับการดำเนินงาน ทางบริษัทจะเป็นผู้จัดหาระบบรถไฟฟ้าส่งมอบให้กับ ทอท.ให้ทันตามกำหนด 870 วัน โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเลือกใช้ระบบรถไฟฟ้าของบริษัทซีเมนส์ รุ่น “cityval and airval” มีโรงงานผลิตอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยจะนำเข้า 6 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รวม 12 ตู้ ใน 1 ขบวนมีมากกว่า 24 ที่นั่ง จะใช้เวลาผลิต 28-30 เดือน รูปแบบรถเป็นระบบอัตโนมัติ มีระบบควบคุมการขับเคลื่อนอยู่ที่ศูนย์กลาง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“ในโลกนี้มีผู้ผลิตรถไฟฟ้า APM มีอยู่ 3 ราย คือ มิตซุย ฮิตาชิ และซีเมนส์ เราจับมือกับซีเมนส์ เพราะจะได้เปรียบเรื่องของต้นทุนการซ่อมบำรุง ซึ่งซีเมนส์ได้งานรถไฟฟ้าในเมืองไทยทั้งบีทีเอส ใต้ดิน แอร์พอร์ตเรลลิงก์ และได้เช่าพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงของ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือบีอีเอ็ม ผู้บริหารรถไฟฟ้าใต้ดิน” นายณัฐนัยกล่าวและว่า

ส่วนผู้ร่วมลงทุนอีก 3 บริษัท ได้แก่ บจ. ไทยอิงเกอร์ เทคโนโลยี บจ.เรืองณรงค์ และ บจ. วิวเท็กซ์ จำกัด จะรับผิดชอบงานในส่วนของระบบ โดยโครงการนี้จะเริ่มมีการดูแลและซ่อมบำรุงหลังปีที่ 5 เป็นต้นไปภายในระยะเวลา 5 ปี

“รถไฟฟ้ารุ่นนี้ของซีเมนส์ เป็นรุ่นเดียวกับที่วิ่งบริการที่สนามบินดูไบและแฟรงก์เฟิร์ต ส่วนประเทศไทยจะเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบรถไฟขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ รับส่งผู้โดยสารในสนามบิน โดยวิ่งลอดใต้อุโมงค์เชื่อมอาคารผู้โดยสารปัจจุบันและอาคารหลังใหม่ที่กำลังจะก่อสร้าง”

นายณัฐนัยกล่าวอีกว่า จากการที่บริษัทได้งานโครงการรถไฟฟ้า APM สนามบินสุวรรณภูมิ ส่งผลให้งานในมือ (แบ็กล็อก) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1,560 ล้านบาทเป็น 5,500 ล้านบาท นอกจากโครงการนี้บริษัทยังได้งานติดตั้งโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ วงเงิน 1,868 ล้านบาท อีกทั้งยังสนใจเข้าประมูลโครงการติดตั้งระบบสายเคเบิลใต้น้ำที่เกาะสมุยและเกาะเต่า รวมถึงติดตั้งระบบโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

สำหรับรายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท แยกเป็นรายได้จากธุรกิจซื้อขาย 2,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากงานติดตั้งระบบในโครงการขนาดใหญ่ เช่น งานระบบสาธารณูปโภคสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และรายได้จากธุรกิจบริการติดตั้งระบบโทรคมนาคม เช่น ติดตั้งระบบโทรคมนาคมให้กับการรถไฟฯใน 25 จังหวัด เป็นต้น

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กล่าวว่า บอร์ดอนุมัติให้ดำเนินการประมูลงานซื้อพร้อมติดตั้งระบบรถไฟ APM โดยวิธีพิเศษ หลัง ทอท.ประมูลมาแล้ว 2 ครั้ง นับแต่เดือน ก.ย. 2559 แต่ไม่สามารถจัดหาผู้ขายได้ จึงได้เปลี่ยนวิธีจัดหาเป็นวิธีพิเศษ โดยใช้เกณฑ์ราคาในการคัดเลือก

เพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อการจัดหา และไม่ให้ส่งผลกระทบล่าช้าต่อกำหนดแล้วเสร็จของโครงการ

โดย ทอท.เชิญผู้ผลิตทั้ง 4 ราย และผู้ที่เคยซื้อเอกสารประมูล 9 ราย เข้าร่วมแข่งขันยื่นข้อเสนอราคาวันที่ 6 ก.ย. 2560 มีผู้สนใจ 2 ราย คือ บมจ.อิตาเลียนไทย และนิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี เมื่อเปิดซองราคาทั้ง 2 ราย เสนอราคาสูงกว่าราคากลางกำหนดไว้ 2,894.9 ล้านบาท

(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จึงได้เจรจาต่อรองราคาใหม่ ปรากฏว่า นิติบุคคลร่วมทำงาน ไออาร์ทีวี เสนอราคาต่ำสุด 2,999.9 ล้านบาท เกินกว่าราคากลาง 3.62% เมื่อพิจารณาความเสี่ยงหากจัดซื้อใหม่ จะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ และจะส่งผลกระทบต่อความล่าช้าของโครงการ จึงเสนอราคาสุดท้ายนี้ให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติ เพื่อให้โครงการเปิดบริการพร้อมกับอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในปี 2563