เสวนาแคมป์คนงานก่อสร้าง How To บริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม

Photo by AFP

4 มิถุนายน 2564 “TREA-สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย” จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “มาตรการการจัดการแคมป์แรงงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด-19 อย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามแสวงหาทางออกให้กับปัญหาคลัสเตอร์โควิดจากแคมป์คนงานก่อสร้างที่ยังปะทุไม่หยุดนับตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

“พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยตั้งข้อสังเกตว่า แคมป์คนงานก่อสร้างที่ได้มีมาตรการรัฐเป็นไกด์ไลน์ในการควบคุมและป้องกันโควิดแต่ทำไมยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยหนึ่งในปัญหาที่พบจากการตรวจแคมป์ก็คือ แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไซต์มีทั้งผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องและไม่มีใบอนุญาตทำงาน และปัญหาอื่น ๆ

“เวทีเสวนานี้เพื่อเป็นการเข้าใจปัญหาและอยู่ร่วมกัน ไฟกำลังไหม้ไม่ควรโทษว่าเพราะใคร หรือใครเอาเชื้อเพลิงเข้ามา ต้องดักปัญหาให้ได้ก่อนแล้วหลังจากนั้นค่อยมาดูว่าจะจัดการกันอย่างไร”

ประเด็นเฉพาะหน้าอยู่ที่กว่าคนงานจะได้ฉีดวัคซีนต้องรอ 1-2 เดือนให้วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน ทุกไซต์ก่อสร้างจึงต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ยื้อเวลาในการติดเชื้อให้นานที่สุด เพื่อไม่ให้เจอปัญหาต้องถูกสั่งปิดไซต์งาน

5 จุดตายเสี่ยงติดเชื้อในแคมป์

ถัดมา “พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล” แพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การควบคุมโรคโควิด เฟส 3 ไม่ได้มีเป้าหมายแค่หยุดยั้งเชื้อ แต่ชะลอการแพร่เชื้อ ลดการเสียชีวิต ลดผลกระทบจากเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางสังคมและการฆ่าตัวตายตามมา

สำหรับคลัสเตอร์ใหญ่ที่พบการระบาดมากสุดตอนนี้มาจากเรือนจำ ตลาด และสถานประกอบการ โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของคลัสเตอร์สถานประกอบการ

ทั้งนี้ การติดเชื้อจากแคมป์คนงานผู้ติดเชื้อจะไม่เสียชีวิตทันที แต่จะนำเชื้อไปแพร่ให้กับกลุ่มเสี่ยงนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด

“การติดเชื้อในแคมป์คนงานหากไม่สามารถควบคุมหรือดูแลคนงานได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดต่อมโนธรรม จึงอยากจะฝากให้ได้พิจารณา”

ผลการตรวจแคมป์ ไซต์งานก่อสร้างมีการทำงานไม่ค่อยแออัด หลายแคมป์ใช้เครื่องจักรและทำงานในที่โล่งแจ้ง แต่จุดตายพื้นที่เกิดการแพร่เชื้อเป็นจุดรับประทานอาหาร จุดสูบบุหรี่ ห้องน้ำ บ้านพักคนงาน และงานเลี้ยง (ดื่มเหล้าสังสรรค์) ในวันสุดสัปดาห์

ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่รูปแบบการทำงานที่ไซต์ก่อสร้างมีซับคอนแทร็กต์ (ผู้รับเหมาช่วง) มีการเข้า-ออกแคมป์ขนาดเล็ก ๆ ทำให้มีลูกจ้างรายวัน (แรงงานใหม่) กลุ่มนี้มักเปลี่ยนหน้าบ่อยจึงเป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ และเป็นการนำเชื้อเข้ามาสู่คนงานเดิมที่อาศัยอยู่ในแคมป์ที่ผู้ประกอบการอสังหาฯต้องดูแล

จุดเน้นเป็นเรื่องความคล่องตัวที่บริษัทมีมาตรการองค์กรที่ใช้จัดการโควิดได้ดีกว่ากฎหมาย การกำกับการทำงานและการดำเนินชีวิตที่เป็นระบบจะรู้ว่าแรงงานอยู่ที่ไหนทั้งช่วงก่อนเข้างาน-ระหว่างทำงาน-หลังเลิกงาน และหลังเลิกงานจะไปที่ไหน หากมีกลไกติดตามได้เมื่อมีการระบาด การแก้ไขปัญหาจะง่ายขึ้น

โดยจุดแข็งที่สุด คือ แรงงานอยู่ในวัยทำงานมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อติดเชื้อมักจะไม่มีอาการ

โมเดลแก้ปัญหา 4 จุดสำคัญ

“พญ.วรรณา” แนะนำการแก้ไขปัญหาจุดตายในจุดสัมผัสที่ทุกไซต์งานก่อสร้างควรให้ความสำคัญ ดังนี้ 1.จุดน้ำดื่ม-ตู้กดน้ำ เพราะมีคนมาใช้ด้วยกันเป็นจำนวนมาก “ตู้กดน้ำ” ให้เปลี่ยนจากใช้มือกดเปลี่ยนเป็นใช้เท้าเหยียบแทน “แก้วน้ำ” เป็นจุดสัมผัสจึงห้ามแจกแก้วน้ำ ต้องมีมาตรการให้คนงานนำแก้วน้ำและกระติกน้ำส่วนตัวมาเอง

2.จุดรับประทานอาหาร แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติมักมากันเป็นครอบครัวและล้อมนั่งกินอาหารโดยนำอาหารมาแชร์กัน พื้นที่นั่งทานอาหารบนพื้นให้ขีดตารางมีระยะห่างกัน 1 ตารางเมตร ขีดกากบาทช่องไหนห้ามนั่งช่องไหนนั่งได้ ช่องที่นั่งได้ให้นั่งเฉพาะครอบครัวเท่านั้น เป็นมาตรการกำกับพฤติกรรมคนงานอย่างชัดเจน

3.โรงอาหาร สำหรับกลุ่มแรงงานไทยที่มาเดี่ยว ๆ ให้นั่งแยกและมีฉากกั้น ผลัดเวลากินเพื่อลดการแออัด

และ 4.ราวบันได เป็นจุดสัมผัสที่มักจะมองข้าม อาจให้คนงานใช้ผ้าผืนเล็กหรือถุงมือผ้าฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์บริการประจำจุด หรือจัดคนคอยเช็ดราวบันไดเหมือนห้างสรรพสินค้า

อย่าลืมดูแล “แรงงานไทย”

“ดร.อัมพร จันทวิบูลย์” ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอข้อมูล ณ ปี 2561 แคมป์คนงานทั้งแคมป์ก่อสร้างและแคมป์อุตสาหกรรมมีไม่กี่ร้อยแห่ง ปัจจุบันเพิ่มจำนวนขึ้นมากในแคมป์คนงานก่อสร้าง 409 แห่ง คนงาน 6 หมื่นกว่าคนมีการพูดถึงแต่แรงงานต่างด้าวแต่ไม่มีการระบุจำนวนตัวเลขแรงงานไทย

“เมื่อเช้าขับรถผ่านแคมป์คนงานก่อสร้างก็มองเห็นอยู่ว่าแคมป์ชั่วคราวห้องพักคนงานใช้สังกะสีไม่มีหน้าต่างแน่นอน ต้องยกระดับคุณภาพการกินการอยู่เขาแล้วก็วางระบบกลไกการทำงานและการสื่อสารให้คนงานรับรู้และเข้าใจจริง ๆ ควรมีอ่างล้างมือ จัดสถานที่ไม่อาบน้ำรวมกัน เปลี่ยนอาบน้ำจากถังเป็นฝักบัวได้ไหม”

โดยคลัสเตอร์โควิดพบว่าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนักมาก ทั้งอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจัยที่พบการแพร่ระบาดในโรงงานกับแคมป์คนงานก่อสร้างมีความใกล้เคียงกัน คือ แพร่ระบาดจากการพักอาศัย การใช้ชีวิตส่วนตัว และโลจิสติกส์ต่าง ๆ แม้โรงงานดูแลดีแค่ไหนแต่ยังมีช่องทางแพร่เชื้อได้หากยังมีการติดต่อภายนอกโรงงาน

“โฟกัสแรงงานไทยปัจจุบันเขามาจากที่ไหน อยู่แบบไหน อยู่ในที่ชุมชนแออัดหรือไปกลับอย่างไร โรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อจะได้ดูแลชีวิตของคนเหล่านี้”

สำหรับแนวทางการควบคุมโรคทำได้ 2 ส่วน คือ 1.โรงงาน-สถานประกอบการกับตัวคน จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ ในด้านผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องเป็นระบบ big cleaning, วิเคราะห์หาความเสี่ยง, ประเดิมความเสี่ยงแล้วปิด gap ความเสี่ยงให้หมดไป

“จะเห็นว่าหลายเคส หลายตลาด หลายโรงงานต่อให้ผ่านความเจ็บปวดครั้งหนึ่งแต่ก็เกิดขึ้นซ้ำในวงรอบเดิม เช่น ตลาดพรพัฒน์เปิดปิดอยู่หลายครั้ง บางโรงงานอาจไม่ใช่แค่ปรับปรุงแต่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เชื่อว่าความเสี่ยงของสถานที่อาจจะเคลียร์จบ หากยอมลงทุนและยอมเคลียร์กันจริง ๆ”

ของต้องมี-พัฒนาฝีมือแรงงาน

ตัวแทนกระทรวงแรงงาน “กาญจนา พูลแก้ว” อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งที่ต้องมีคือการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อนำไปสู่จุดเป้าหมายทั้งในเรื่องของดีมานด์กับซัพพลายตลาดแรงงานของประเทศไทย

โดยกรมเริ่มมีการสุ่มตรวจ 76 จังหวัด กับ 11 พื้นที่ (ในกรุงเทพฯ) จำนวนลูกจ้าง 7 แสนกว่าคน ข้อมูลวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 พบว่า 1.กลุ่มที่มีลูกจ้างหนาแน่นมากกว่า 500 คน 2.สถานที่ก่อสร้างและที่พักคนงาน 3.ประเด็นสำคัญที่เจอกรณีสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างต่างด้าวเป็นจำนวนมาก มีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรการของกรมควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงระหว่างสาธารณสุขจังหวัดและ “กทม.-กรุงเทพมหานคร”

“อธิบดีกาญจนา” เน้นย้ำด้วยว่า ผู้ประกอบการต้องมีข้อมูล outsource, supply chain เป็นระบบ แรงงานไปทำงานที่อื่นหรือไม่ มีที่พักแบบไหน เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องทำทะเบียนลูกจ้าง เพียงแต่ที่ผ่านมาบริษัททำเฉพาะทะเบียนลูกจ้างของบริษัท ส่วนที่นอกเหนือจากนี้ไม่ได้เก็บข้อมูลทำให้ยากลำบากสำหรับคนที่เข้าไปตรวจ

ในขณะที่การสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานด้านภาษารองรับ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้

ปั้น “จิตอาสาสาธารณสุข”

“มนูศักดิ์ มีอุดมศักดิ์” รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันอังคาร 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา กทม.ได้จัดประชุมออนไลน์ร่วมกับเอกชนหัวข้อ “แนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในแคมป์คนงานก่อสร้าง” มีผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วม 250 คน ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ กทม. โดยพื้นที่ กทม.มี 409 แคมป์ คนงานรวม 62,000 คน เป็นแรงงานไทย 26,000 คน แรงงานต่างชาติ 36,000 คน

ตบท้ายด้วย “รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์” คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ว่า ยุคโควิดทำให้ผู้คนใส่ใจเรื่องของความสะอาดมากขึ้น สิ่งที่นักศึกษา คณาจารย์ใช้ในการลงพื้นที่สำรวจโดยมองถึงทุนสังคมในแต่ละแคมป์ ตัวอย่างบางแคมป์คุณภาพการพักอาศัยของแรงงานไม่เหมาะสม

“ผู้ประกอบการต้องเห็นถึงความสำคัญที่แรงงานเผชิญอยู่ เพราะตัวหนังสือ (ความรู้โรคโควิด ป้ายแจ้งเตือนต่าง ๆ) ไม่เพียงพอ ตอนนี้เราได้พัฒนาให้เกิดจิตอาสาสาธารณสุขที่ดำรงชีวิตอยู่ในแคมป์นั้น แยกสำรวจชาย-หญิงมีจำนวนเท่าไหร่ ได้ข้อมูลจากชายไทย หญิงเขมร หญิงคลอดลูก ซึ่งแรงจูงใจไม่เท่ากัน เราวาดแผนที่ในแต่ละไซต์งานด้วยเพราะมีความเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน”

โดยคนที่ฝึกให้วาดแผนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เขา (คนงาน) คุ้นชินว่าการป้องกันโควิดไม่ใช่แค่เขา แต่เป็นเรื่องสภาพแวดล้อมด้วย