ยาหอม “สายสีแดง มธ.รังสิต” มาปี68 ธรรมศาสตร์ จ่อ MOU คมนาคมผุด TOD

“คมนาคม-ธรรมศาสตร์” หารือรับสายสีแดงรังสิต – มธ.ศูนย์รังสิต “ศักดิ์สยาม” โปรยยาหอมปี 68 เสร็จเปิดแน่ ระดม “รถไฟ-ทางหลวง-สนข.-ขนส่ง” จัดรถดีเซลรางเขื่อม” เชียงราก-รังสิต/ทำแผน และปรับปรุงถนน/เส้นทางรถ เผย 2 ฝ่ายสนใจลงทุน TOD จ่อลงนาม MOU

วันที่ 25 มิ.ย. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อปรึกษาหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟ โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ในการนี้ นายศักดิ์สยาม หารือในรายละเอียดร่วมกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรดำเนินการพัฒนาร่วมกัน ดังนี้ 

สายสีแดงถึงธรรมศาสตร์มาปี 68

ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยเร่งดำเนินการงานโยธาและระบบรางเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2568 

ทั้งนี้ ในระหว่างการก่อสร้าง ร.ฟ.ท. จะจัดรถไฟดีเซลรางเดินรถเชื่อมต่อระหว่างสถานีรังสิตไปถึงสถานีเชียงรากน้อย เพื่อรองรับการเดินทางไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2564

ทางหลวง – สนข. ปรับปรุง-วางแผนพัฒนาถนนโซนรังสิต

ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) ได้พิจารณาปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งมีแผนการพัฒนาในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายถนนและการคมนาคมบริเวณพื้นที่รังสิต เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมบริเวณพื้นที่รังสิต เพื่อพิจารณาผลักดันการดำเนินการไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ต่อไป 

“ขนส่ง” วางแนวรถสาธารณะเข้าถึง

ด้านกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถเพื่อรองรับพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากมีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะปรับแนวเส้นทางเข้าไปในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยตรงด้วย 

จ่อ MOU พัฒนา TOD ร่วมกัน

ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความสนใจที่จะร่วมพัฒนาพื้นที่กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา Transit Oriented Development (TOD) ของกระทรวงคมนาคม ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นควรจะร่วมมือกัน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรพิจารณายกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างทั้งสองฝ่ายในรายละเอียด เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ 

ทั้งสองฝ่ายตกลงในหลักการที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลาการด้านอุตสาหกรรมระบบราง โดยอาจขยายผลไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านการขนส่งอื่นๆ เช่น ด้านพาณิชยนาวี เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายจะได้หารือในรายละเอียดถึงกรอบความร่วมมืออีกครั้งหนึ่ง