ไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ก.ย. 64

ไฮสปีด
แฟ้มภาพ

ปลัดคมนาคม คุมหัวโต๊ะส่งมอบพื้นที่ “ไฮสปีด 3 สนามบิน” เร่งส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้จบใน ก.ย. 64 ส่งมอบ “ซี.พี.” ให้ทันกำหนดพร้อมออก NTP ต.ค. 64 หลังส่งมอบพื้นที่คืบไปกว่า 88% 

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการ โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญคือ การส่งมอบพื้นที่

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม

สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาคืบ 88%

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เตรียมการส่งมอบพื้นที่ในช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. เป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ มีความก้าวหน้าในการส่งมอบพื้นที่แล้ว 88% โดยได้สั่งการและมอบนโยบายในการดำเนินงาน เพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามกำหนด เวลาที่ตั้งไว้ คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทั้งหมดในเดือน ก.ย. 2564 ก่อนถึงกำหนดส่งมอบตามสัญญาในเดือน ต.ค. 2564 และคาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ได้ในวันที่ 24 ต.ค. 2564

สำหรับรายละเอียดเนื้องานที่สำคัญประกอบด้วย

(1) การเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ได้ทำสัญญาซื้อขายแล้ว 634 สัญญา มูลค่า 3,599 ล้านบาท จากจำนวน 737 สัญญา มูลค่า 4,121 ล้านบาท

(2) การโยกย้ายผู้บุกรุก ที่กีดขวางการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ได้ดำเนินการโยกย้ายแล้วเสร็จ 100 %

(3) งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูโภคช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาแล้วเสร็จ 257 จุด และอยู่ระหว่างการรื้อย้าย 396 จุด ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินงาน เพื่อให้แล้วเสร็จทันตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้คือ ภายในเดือน ก.ย. 2564

เร่งบางซื่อ-ดอนเมือง เคลียร์งานซ้อนไทยจีน

ส่วนช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กม. จะต้องแยกช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ออกมาเร่งดำเนินการก่อน เพราะเป็นช่วงที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเดิมช่วงนี้มีกำหนดส่งมอบพื้นที่ภายในปี 2566

โดยช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เคลียร์ผู้บุกรุกเกือบเสร็จแล้ว ส่วนการเวนคืนในส่วนนี้มีไม่มากนัก แต่มีเรื่องการจัดการกับระบบสาธารณูปโภคมากหน่อย โดยได้ให้ อีอีซี ไปคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว และด้านหนึ่งก็เตรียมความพร้อมด้านงานก่อสร้างด้วย เพื่อเริ่มต้นการก่อสร้างโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ส่วนรูปแบบการดำเนินการยังอยู่ระหว่างคุยกัน

“ลักษณะงานที่ทางฝั่งรถไฟ 3 สนามบิน จะเริ่มตั้งแต่การตอกเสาเข็ม หล่อขึ้นโครงตอม่อ ขึ้นมาเป็นโครงสร้างร่วมที่แยกออกไปเป็น 2 Track ซึ่งวางไว้ให้ Track ทั้ง 2 ด้านไปพร้อมกัน โดยอาจมีผลกับสัญญา 4-1 ในเรื่องเนื้องานที่ลดลง แต่กำลังดูอยู่ว่าลดลงมากไหม ซึ่งตอนนี้ให้ที่ปรึกษาเจ้าของงาน (Project Management Consultant : PMC) เข้าหารือกับจีน เพื่อเร่งออกแบบและก่อสร้าง ให้งานเสร็จเร็ว” ปลัดคมนาคมกล่าว

จ้าง ITD เข้าเตรียมงานแล้ว

ด้านความคืบหน้าของเอกชนคู่สัญญาปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและเริ่มงานเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่ งานก่อสร้างถนน งานก่อสร้างสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างสำนักงานสนาม บ้านพักพนักงาน และงานเจาะสำรวจดิน เป็นต้น โดย บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่ม ซี.พี.) ผู้รับสัมปทาน 50 ปี ว่าจ้าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้ดำเนินการ 3,603.728 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ส.ค. 2564

ยันตามเดิม 24 ต.ค. รับมอบแอร์พอร์ตลิงก์

ในส่วนการเข้าบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบัน เอกชนคู่สัญญาได้นำผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบสถานะด้านเทคนิคแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างออกแบบเพื่อปรับปรุงการให้บริการ และเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร นอกจากนี้ ยังเตรียมการปรับปรุงการให้บริการของสถานี ปรับปรุงการเดินรถไฟให้ทันสมัย ตรงเวลา และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่ดี มีความสะดวกสบาย และยืนยันว่าจะชำระค่าใช้สิทธิ์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท ให้กับรัฐได้ตามกำหนดในช่วงเดือน ต.ค. 2564

โยนอีอีซีตัดสินใจแบ่งชำระ

ส่วนกระแสข่าวการขอแบ่งชำระค่าใช้สิทธิ์เป็นงวด ๆ ที่ประชุมไม่ได้หารือกันในกรณีนี้และน่าจะเป็นเพียงข่าวลือ แต่มองว่าหาก ซี.พี.จะแบ่งจ่ายเป็นงวดก็สามารถหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามหลักการของ PPP