AREA ถอดบทเรียนโรงงานกิ่งแก้วไหม้ กับบทเรียนกรุงเบรุต

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

โรงงานหมิงตี้ไฟไหม้เมื่อเช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 มีข้อสังเกตว่าตั้งอยู่ในเขตชุมชน กรณีนี้ผิดกฎหมายผังเมืองหรือไม่

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่า บจก.หมิงตี้เคมีคอล ตั้งอยู่ใน ซอยกิ่งแก้ว 21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ประกอบธุรกิจ ผลิตเม็ดโฟม EPS หรือ Expandable Polystyrene (พอลิสไตรีน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2532 ทุนจดทะเบียน (ปัจจุบัน) 70 ล้านบาท และเกิดระเบิด “ไฟไหม้กิ่งแก้ว” ทำบ้านเรือนพังไม่ต่ำกว่า 70 หลัง เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 29 ราย

ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 ลว. 26 มิถุนายน 2556 ซึ่งยังใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน ที่ดินที่ตั้งโรงงานของ บจก.หมิงตี้เคมีคอล อยู่ในที่ดินประเภท พ.4 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข้อ 18 ที่ดินประเภท พ.4 ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถานที่เก็บสินค้าซึ่งใช้เป็นที่เก็บพักหรือขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรืออุตสาหกรรมการบริการเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า หรือการขนส่งโดยอากาศยาน โรงงานลำดับที่ 36 (1) ลำดับที่ 39 ลำดับที่ 51 ลำดับที่ 52 (4) ลำดับที่ 53 (4) (5) และ (8) ลำดับที่ 64 (1) ลำดับที่ 69 ลำดับที่ 81 (1) (2) และ (3) ลำดับที่ 82 ลำดับที่ 83 ลำดับที่ 84 (1) (2) (3) (4) และ (5) และ ลำดับที่ 91 (1) ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ

ที่ดินประเภทนี้ ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้

(1) โรงงานทุกจำพวกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่โรงงานตามประเภท ชนิด และจำพวกที่กำหนดให้ดำเนินการได้ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงนี้

(2) คลังน้ำมันเชื้อเพลิงและสถานที่ที่ใช้ในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ไม่ใช่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงเว้นแต่เป็นสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

(3) สถานที่บรรจุก๊าซ สถานที่เก็บก๊าซ และห้องบรรจุก๊าซ สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่หมายความรวมถึงสถานีบริการ ร้านจำหน่ายก๊าซ สถานที่ใช้ก๊าซ และสถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซ

(4) เลี้ยงม้า โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ห่าน เป็ด ไก่ งู หรือสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อการค้า

(5) สุสานและฌาปนสถานตามกฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน เว้นแต่เป็นการก่อสร้างแทนสุสานหรือฌาปนสถานที่มีอยู่เดิม

(6) โรงฆ่าสัตว์หรือโรงพักสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์

(7) ไซโลเก็บผลิตผลทางการเกษตร

(8) กำจัดมูลฝอยหรือสิ่งปฏิกูล

(9) กำจัดวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย

(10) ซื้อขายหรือเก็บชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเก่า

(11) ซื้อขายหรือเก็บเศษวัสดุ

การใช้ประโยชน์ที่ดินริมฝั่งลำคลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ให้มีที่ว่างตามแนวขนานริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของลำคลองหรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร เว้นแต่เป็นการก่อสร้างเพื่อการคมนาคมทางน้ำหรือการสาธารณูปโภค

ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถประกอบกิจการโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้

(1) การทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องเรือน หรือเครื่องประดับ และรวมถึงชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
(3) การทำเปลือกหุ้มไส้กรอก
(4) การทำภาชนะบรรจุ เช่น ถุงหรือกระสอบ
(5) การทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่าง ๆ
(8) การอัดพลาสติกหลาย ๆ ชั้นเป็นแผ่น (ตัวเลขบางประเภทที่ไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้ใส่ไว้)

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าแม้ไม่ได้ระบุให้เป็นสถานที่เก็บหรือผลิตเม็ดโฟม เม็ดพลาสติกโดยตรง แต่โดยที่ผังเมืองนี้ออกมาหลังโรงงานแห่งนี้จัดตั้งขึ้น ในขณะที่ผังเมืองรวมฉบับแรกของสมุทรปราการประกาศใช้เมื่อ 24 มิถุนายน 2537 จึงถือว่าโรงงานนี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มาตรการการดูแลความปลอดภัยของวัสดุหรือสารเคมีที่มีอันตราย ควรมีการปรับปรุงให้เข้มงวดกว่านี้ เพราะในบริเวณนี้มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีประชาชนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นผังเมืองฉบับปี 2556 ซึ่งใช้มา 8 ปีแล้ว ก็ไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเท่าที่ควร

การระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุต ส่งผลรุนแรงต่อเมืองและตลาดที่อยู่อาศัยเป็นอย่างยิ่ง ไฟไหม้ที่กิ่งแก้วของไทยจะเป็นแค่ “ไฟไหม้ฟาง” หรือไม่ ฝรั่งเขาสรุปบทเรียนกันอย่างไร

ย้อนรอยเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 18.07 น. เกิดการระเบิดทำลายล้างที่ท่าเรือเบรุต ประเทศเลบานอน มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน บาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน และสูญเสียบ้าน 300,000 หลัง

เบรุตตั้งอยู่บนคาบสมุทรฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของท่าเรือเบรุตเปิดในปี พ.ศ.2430 ตั้งอยู่ทางเหนือของตัวเมือง และแยกจากย่านการค้าและที่อยู่อาศัยโดยทางหลวง Charles Helou ทั้งนี้ท่าเรือประกอบด้วยท่าเทียบเรือสำหรับเรือขนส่งสินค้า ไซโลเก็บเมล็ดพืช และโรงเก็บสินค้า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แอมโมเนียมไนเตรตหลายพันตันถูกเก็บไว้ในโรงเก็บเครื่องบิน 12 ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของไซโลเมล็ดพืชโดยตรง โดยไม่ทราบสาเหตุ โรงเก็บเครื่องบินเดียวกันได้เก็บเชื้อเพลิง กรด หลอดฟิวส์ และดอกไม้ไฟ 15 ตัน ค่าความเสียหาย 10,000-15,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากการระเบิดของเบรุตเพื่อเตรียมสภาพแวดล้อมในเมืองอื่น ๆ สำหรับอุบัติเหตุครั้งนี้มีคนเกือบ 100,000 คนที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 1.6 กม. จากโกดัง โดยเป็นการระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรต ประมาณ 1,500 ตันที่มีส่วนทำให้เกิดการระเบิดและความเร็วคลื่นกระแทกที่คาดไม่ถึง

เป้าหมายของการวางตำแหน่งความปลอดภัยจากวัตถุระเบิดมี 2 ประการ คือ ความปลอดภัยในชีวิต และการบรรเทาการแพร่กระจายของวัตถุระเบิดระหว่างสถานที่จัดเก็บกับระยะห่างของอาคารที่มีคนอาศัยอยู่ เราควรกำหนดระยะห่างขั้นต่ำที่อนุญาตให้มีการจัดเก็บวัตถุระเบิดกับอาคารที่มีประชาชนอยู่อาศัย ระยะทางขั้นต่ำนี้จะช่วยป้องกันต่อความเสียหายของโครงสร้างอาคารจากคลื่นกระแทก รวมทั้งการแตกของกระจก การบาดเจ็บของบุคคลจากกระจกที่กระจายออกมา

การประเมินความเสียหายทำได้โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมก่อนและหลังการระเบิด การซ้อนทับแผนที่ความเสียหายนี้ใช้ความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งที่ความเสียหายคาดว่าจะหนัก (สีแดง) ถึงปานกลาง (สีเหลือง) ต่อจากนั้นได้ตรวจสอบและประเมินโครงสร้างอาคารทั่วเมืองเพื่อประเมินความเสียหาย ระดับความเสียหายถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ที่คล้ายคลึงกันกับภาพถ่ายดาวเทียม ตั้งแต่ความเสียหายแบบไม่รุนแรง จนถึงแบบรุนแรง

เบรุตมีอาคารทางศาสนาโบราณมากมาย ตลอดจนอาคารเก่าแก่ มรดกตกทอด ตลอดจนอาคารที่พัฒนาขึ้นใหม่และอาคารสูงระฟ้า อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากคลื่นระเบิด ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญหรือบางส่วน ระดับของความเสียหายส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับประเภท อายุ และตำแหน่งของอาคารเหล่านี้

การประเมินความเสียหายของอาคารเหล่านี้พึงแจ้งให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับขอบเขตของความเสียหายที่เกิดขึ้น และเพื่อช่วยในการตัดสินใจทางวิศวกรรมในการซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ การประเมินเหล่านี้ยังช่วยประมาณการต้นทุนสำหรับอาคารที่ต้องซ่อมแซม สำหรับผู้พักอาศัย มีกระจกแตก ระบบอาคารที่ถูกทำลาย และอาคารที่ถล่มพังลงมา

อาคารสำหรับการก่อสร้างในยุคใหม่ที่ทนทานต่อพิบัติภัยต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่รู้ว่ากรณีประเทศไทย จะเป็นแบบไฟไหม้ฟางหรือไม่