ศักดิ์สยาม เคาะต่ออายุเยียวยาแอร์ไลน์ ถึง ก.ย. 64

บอร์ดการบินพลเรือนที่มี “ศักดิ์สยาม” เป็นประธาน เคาะขยายมาตรการการบินเยียวยาแอร์ไลน์ออกไปอีกถึง 30 ก.ย. 64

วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ร่วมกับกรรมการในที่ประชุม กบร. ครั้งที่ 7/2564 มีมติขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สำหรับไตรมาสที่ 3/2564

สืบเนื่องจาก กบร. เคยมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บจ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ร่วมกันจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบิน ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ระยะ และมาตรการสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ระหว่างนั้น ผู้ประกอบการสายการบิน 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินไทยไลออนแอร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ ได้ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจสายการบิน โดยขอขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงมาตรการดังกล่าว

ที่ประชุม กบร. เล็งเห็นความสำคัญและต้องการช่วยเหลือสายการบินอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 โดยให้มีกรอบเวลาของมาตรการสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แต่ให้ประกาศใช้มาตรการเป็นรายไตรมาสพร้อมทั้งประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ซึ่งไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2564) ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ในการประชุมครั้งนี้ กบร. มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายมาตรการดำเนินการ ดังนี้

ทอท.ลดค่า Landing-Parking 50% ตลอด Q3

1.มาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน ให้ ทอท.ปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลง 50% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 (1 กรกฎาคม-30 กันยายน 2564)

สนามบินภูธรรอเงินหมุนเวียนกองทุน

ส่วนมาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะเริ่มดำเนินการเมื่อ ทย. ได้รับเงินชดเชยเข้าเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานจากรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ ทย. จะดำเนินการคืนเงินค่าบริการส่วนต่างที่ได้เรียกเก็บมาแล้วให้สายการบินเมื่อได้รับเงินชดเชยต่อไป

เว้นค่าปรับเคสส่งค่าธรรมเนียมเข้า-ออกล่าช้า

2. มาตรการทางการเงิน ให้ CAAT ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Term) และยกเว้นเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) กับสายการบินที่ส่งค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกประเทศล่าช้าในไตรมาสที่ 3

บวท. รอ PSO


ในส่วนของ บวท.ซึ่งสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือลงแล้วเนื่องด้วยข้อจำกัดทางการเงินของ บวท. เองในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม หาก บวท. สามารถขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) จากรัฐเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมได้ ให้ บวท. พิจารณานำเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของสายการบินต่อที่ประชุม กบร. อีกครั้งหนึ่ง