การท่าเรือฯ ดัน “ท่าเรือบกฉะเชิงเทรา” ชงคมนาคมภายใน ก.ค.64

ท่าเรือ เข็นโปรเจ็กต์ท่าเรือบก 3 จังหวัด “ฉะเชิงเทรา-ขอนแก่น-โคราช” นำร่องฉะเชิงเทราก่อน ชงคมนาคมเห็นชอบภายในเดือน ก.ค.นี้

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เตรียมดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมบทบาทให้พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ให้เป็นประตูการค้าของกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

สำหรับการพัฒนาท่าเรือบก กทท. เตรียมดำเนินการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ Inland Container Depot (ICD) ฉะเชิงเทรา เป็นโครงการนำร่อง โดย กทท. ได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบกของกระทรวงคมนาคม ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการฝ่ายบริหาร กทท. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 มีความเห็นให้เชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือบก

ได้แก่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ร่วมจัดทำแผนการพัฒนาท่าเรือบก ก่อนนำเสนอคณะกรรมการฝ่ายบริหาร กทท. พิจารณา

ทั้งนี้แผนพัฒนาท่าเรือบก จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ กทท. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบ ภายในเดือนกรกฎาคม 2564

สำหรับโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สนข. ได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน และสิ่งแวดล้อม จัดทำแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) รวมทั้งรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ ICD ฉะเชิงเทรา

เพื่อรองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและราชอาณาจักรกัมพูชาผ่านจังหวัดสระแก้ว และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าเข้าสู่พื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และท่าเรือ 3 ท่า ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด เพื่อยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่ครบวงจร